เปิดผลสำรวจ 10 ชาติ อยากได้ ‘เงินเดือน สวัสดิการ งานในฝัน’ แบบไหน?

ต้นเดือนมกราคม 2022 สำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยตัวเลขน่าสนใจที่พบว่า พ.ย. 2021 เพียงเดือนเดียว มีชาวอเมริกันสมัครใจลาออกมากกว่า 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานภาคบริการโรงแรมร้านอาหาร 3.7 แสนคน หรือคิดเป็น 6.1% ขณะที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมธุรกิจสุขภาพ ขนส่ง บริการสังคม และสาธารณูปโภค ล้วนมีแรงงานลาออกเพิ่มขึ้น

ตัวเลขชาวอเมริกัน 4.5 ล้านที่สมัครใจทิ้งงานในเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมานั้น ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มระบาดช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่แรงงานอาจติดเชื้อในที่ทำงานมากขึ้นเช่นกัน

กระแส “The Great Resignation” หรือ “อภิมหาลาออก” ไม่เกิดขึ้นในสหรัฐเท่านั้น ผลสำรวจจาก Randstad UK บริษัทจัดหางานในอังกฤษ ซึ่งสำรวจแรงงาน 6,000 คน เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว พบว่ากว่า 69% มีความประสงค์ลาออกในไม่กี่เดือนข้างหน้า ในจำนวนนี้ 24% วางแผนเปลี่ยนงานภายใน 3-6 เดือน จากปกติคนอังกฤษมีอัตราการเปลี่ยนงานใหม่แต่ละปีเฉลี่ยเพียง 11%

สาเหตุหลักที่ต้องการเปลี่ยนงานมากขึ้น เนื่องจากตลาดแรงงานมีตำแหน่งเพิ่มขึ้น ประกอบกับพนักงานโดยเฉพาะภาคบริการเกิดภาวะ “หมดไฟ” ที่ต้องทนทำงานในช่วงโรคระบาดที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย นอกจากนี้หลายคนลาออกเพื่อมองหาโอกาสงานที่ดีกว่า และค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

ไม่นานนี้ มีผลสำรวจน่าสนใจจาก Bain & Co. บริษัทด้านการจัดการระดับโลก ซึ่งสำรวจแรงงานจากหลากหลายประเทศ และเชื้อชาติจำนวน 20,000 คน ใน 10 ประเทศ โดยพบว่าแรงงานแต่ละชาติมี “ความต้องการ” ทำงานที่แตกต่างกันออกไป ลูกจ้างในฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการเลือกงานที่ “สร้างแรงบันดาลใจ” มากกว่าเงินเดือน ขณะที่แรงงานชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคง” ในงานเป็นอันดับ 3 รองจากเงินเดือน และงานที่ตนสนใจ

จากการสำรวจทั้ง 10 ชาติ พบว่าลูกจ้างชาวสหรัฐ, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, จีน, อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และบราซิล ต่างให้ความสำคัญกับ “ค่าตอบแทน” เป็นอันดับหนึ่ง ตรงข้ามกับชาวฝรั่งเศสที่ให้ความสำคัญกับ “งานที่น่าสนใจมากกว่าเงิน” ขณะที่ชาวอินเดียให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคง” เป็นอันดับแรกเหนือค่าตอบแทน

ทั้งนี้ แรงงานอเมริกันและญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีเหนือสิ่งอื่นใด โดยหากไม่นับรวมเรื่องเงินเดือน ชาวบราซิล และไนจีเรีย จะให้ความสำคัญในงานที่ตนเองสนใจ รวมถึงสายงานที่มีโอกาสเติบโตและเรียนรู้มากกว่า ส่วนแรงงานอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน” และ “ความมั่นคงในงาน” ในระดับเท่า ๆ กัน

สำหรับลูกจ้างชาวจีน นอกจากเรื่อง “ผลตอบแทน” เป็นอันดับแรกแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญรองลงมาคือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ตามด้วยความมั่นคงและความก้าวหน้าในงานในระดับเท่ากัน

ขณะที่ชาวเยอรมันให้ความสำคัญความยืดหยุ่นในงานน้อยที่สุด เนื่องจากมีธรรมเนียมจริงจังกับการทำงาน ประกอบกับมีกฎหมายแรงงาน (Arbeitsrecht) รองรับในระดับดีเยี่ยม ทำให้ชาวเยอรมันไม่ห่วงเรื่องความยืดหยุ่นในงานมากนัก

ส่วนแรงงานฝั่งเอเชียนอกจากทำงานหนักแล้ว ธรรมเนียมเอเชียนับว่ามีเวิร์กไลฟ์บาลานซ์น้อยที่สุด สังเกตได้จากผลสำรวจแรงงานญี่ปุ่นและจีนสนใจงานที่มีความยืดหยุ่นมาเป็นอันดับสอง รองจากเงินเดือน

“แอนดรูว ชเวเดล” หุ้นส่วนของ Bain & Co. กล่าวว่า การสำรวจนี้มีขึ้นช่วงที่ชาวอเมริกันแห่ลาออกจากงานสูงทำสถิติ นับตั้งแต่โควิดระบาด ลูกจ้างทั่วโลกต้องต่อสู้กับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ การเกิดขึ้นของโควิดยังทำให้บรรดาแรงงานได้ทราบว่าองค์กรที่ตนเองร่วมงานนั้น ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ สวัสดิการที่เกี่ยวข้อง หรือมีมาตรการดูแลพนักงานดีเพียงใด โควิดบีบให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับวัฒนธรรมองค์กร แรงงานบางรายสูญเสียโอกาส ดังนั้นเทรนด์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของโลกในอนาคต คือการเอาใจใส่ลูกจ้างมากกว่าที่เคย

“เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ได้เห็นความปรารถนา และแรงจูงใจอันหลากหลายในหมู่แรงงานทั่วโลก เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเหมารวมว่าผลตอบแทนหรือเงินเดือน คือทั้งหมดที่พนักงานต้องการ แม้จะเป็นสิ่งที่มาอันดับต้น ๆ แต่จะเห็นว่าผู้คนต้องการสิ่งอื่น ๆ ในงาน มากกว่าแค่เงินเดือนสูง”

ผลสำรวจยังระบุอีกว่า แม้ค่าตอบแทนสูงจะเป็นสิ่งจูงใจแรงงานในทั่วโลก แต่กว่าครึ่งกำลังทบทวนความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ชาวอเมริกันกว่า 1 ใน 4 มีการเปลี่ยนงานช่วงปีแรกของการระบาด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก อุตฯการผลิต และการดูแลสุขภาพ

ทั้งนี้ แม้ว่าค่าแรง ความยืดหยุ่น และความมั่นคงเป็นอันดับแรกที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่อีกสิ่งที่แรงงานทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ งานที่มีความเป็นอิสระและช่วยเหลือสังคม