เปิดผลวิจัยหลายประเทศ ชี้ค่าการตรวจ ATK จากน้ำลายต่ำ หวั่นผิดพลาด

เผยผลวิจัยหลายประเทศ ชี้แสดงค่าการตรวจ ATK จากน้ำลายต่ำ-ผลลบลวงสูง หวั่นผิดพลาด

รายงานการศึกษาประสิทธิภาพชุดตรวจ COVID-19 ด้วยตัวอย่างจากน้ำลายมีโอกาสเกิดผลลบปลอมสูง ผลการศึกษาในประเทศไทย โดยสถาบันควบคุมและป้องกันโรคในเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาประสิทธิภาพชุดตรวจ COVID-19 ด้วยตัวอย่างจากน้ำลาย จำนวน 233 ตัวอย่าง เทียบกับตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก โดยใช้วิธี Real-time PCR เป็นวิธีมาตรฐาน ตัวอย่างจากน้ำลายให้ผลบวก 12 ราย (12/32)  ให้ความไว 37.5% (พบผลลบลวง จำนวน 20 ราย)

สำหรับผลการศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย Julius Center for Health Sciences and Primary Care, University Medical Center Utrecht, Utrecht University ศึกษาประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ด้วยตัวอย่างจากน้ำลาย (Saliva) และตัวอย่างจากจมูก (Nasal) จำนวน 143 ตัวอย่าง เทียบผลกับวิธี Real-time PCR เป็นวิธีมาตรฐาน พบว่าตัวอย่างจากน้ำลายให้ความไว 54.9% และตัวอย่างจากจมูกให้ความไว 83.9%

นอกจากนี้ ผลการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดย Department of Laboratory Medicine, Keio University School of Medicine, Tokyo, Japan ศึกษาประสิทธิภาพชุดตรวจ COVID-19 ด้วยตัวอย่างจากน้ำลาย จำนวน 73 ตัวอย่าง เทียบกับตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกโดยใช้วิธี Real-time PCR เป็นวิธีมาตรฐาน ตัวอย่างจากน้ำลายให้ผลสอดคล้องกับค่าอ้างอิงคิดเป็น 75.9% หลายๆ งานวิจัยรายงานว่า ตัวอย่างจากน้ำลาย (Saliva) ให้ความไวต่ำพบอัตราการเกิดผลลบปลอมสูง จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19

เพื่อให้ผลทดสอบเกิดความแม่นยำ หากตรวจจากน้ำลายแล้วไม่มั่นใจในผลทดสอบก็ให้ตรวจซ้ำด้วยวิธี swab ด้วยชุดทดสอบ ATK ที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีผลวิจัยทางคลินิกรองรับการตรวจเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อื่นๆ