รวบ 2 นักกิจกรรม ในมช. ชูป้ายหน้าหอประชุม รณรงค์เรียนจบไม่รับปริญญา ด้าน สโมสรนศ. จี้อธิการช่วย 

รวบ 2 นักกิจกรรม ในมช. ชูป้ายหน้าหอประชุม รณรงค์เรียนจบไม่รับปริญญา ด้าน สโมสรนศ. จี้อธิการช่วย 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 55 โดยมี 2 นักกิจกรรม ประกอบด้วย น.ส.พิมชนก ใจหงษ์ แนวร่วมคนรุ่นใหม่นครสวรรค์ กับ นายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ เท็น artn’t ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะทำกิจกรรมรณรงค์ ‘ไม่รับปริญญา’ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ โดยสำนักข่าวราษฎร ได้เผยแพร่ภาพถ่ายทอดสดบนเพจเฟซบุ๊กระหว่างที่ น.ส.พิมชนก ทำกิจกรรม พร้อมกับชูป้ายผ้าเขียนข้อความ เช่น “ยกเลิก112” เป็นต้น

จากไลฟ์ของสำนักข่าวราษฎร เหตุเกิดขึ้นเมื่อเวลา เวลา 10:05 น. นักกิจกรรมทั้ง 2 คน ถูกนำขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังเพื่อนำตัวไป สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยมีการนำป้ายรณรงค์วางบนพื้น และถ่ายเป็นหลักฐาน จากนั้นไม่นาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งผ่านทวิตเตอร์ศูนย์ฯว่า ตำรวจนำตัวผู้ถูกจับกุม 2 ราย จากสภ.ภูพิงค์ฯ ขึ้นรถไปยัง สภ.สันกำแพง โดยอ้างว่า สถานที่ไม่สะดวก โดยมีทนายความขึ้นรถติดตามไปด้วย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย ซึ่งนักกิจกรรมทั้ง 2 คน ได้ยืนชูสามนิ้วที่หน้าสภ.สันกำแพง ก่อนถูกนำตัวเข้าไปสอบปากคำ

ทั้งนี้ น.ส.พิมชนก เปิดเผยด้วยว่า เธอได้รับบาดเจ็บที่แขน ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้ากระชากแย่งโทรศัพท์มือถือที่ใช้ทำการไลฟ์สด โดยตำรวจที่สภ.สันกำแพงได้ให้แพทย์และพยาบาลมาตรวจร่างกายแล้ว

ด้าน เพจ “สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ได้โพสต์บนเฟสบุ๊กว่า การกระทำของพนักงานรัฐดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดเสรีภาพของประชาชน เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบในทุกขั้นตอนและกระบวนการ ตั้งแต่การเข้าจับกุมและการย้ายตัวผู้ต้องหา ซึ่งไม่มีอำนาจทางกฎหมายให้กระทำได้ ถือเป็นปิดกั้นและและละเมิดเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกจำกุมภายในเขตจัดงานของมหาวิทยาลัยเป็นการด่วน

จากนั้น เวลา 13.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งผ่านทวิตเตอร์ศูนย์ฯ อีกครั้งว่า ที่สภ.สันกำแพง ตำรวจสภ.ภูพิงค์ฯ ได้แจ้งข้อหานายยศสุนทร และน.ส.พิมชนก ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ในส่วนของ น.ส.พิมชนก ยังถูกข้อหาส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควรด้วย ส่วนการแจ้งข้อหานอกพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะตอนเกิดเหตุการณ์ ถือว่าเป็นเขตพระราชฐาน ตำรวจให้เปรียบเทียบปรับเป็นเงินข้อหาละ 500 บาท รวมเป็นค่าปรับ 1,500 บาท ก่อนที่จะปล่อยตัวทั้ง 2 คนหลังเสียค่าปรับในเวลา เวลา 14.00 น.

สำหรับการรณรงค์ดังกล่าว เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา โดยเพจเฟซบุ๊กงานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์แสดงจุดยืนไม่ส่งตัวแทน และไม่ให้การสนับสนุนทุกวิถีทางในงานพิธีรับปริญญา ซึ่งนักกิจกรรมทั้ง 2 คนพยายามที่จะเข้าไปในบริเวณงานรับปริญญา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้เข้า โดยอ้างเป็นเขตหวงห้าม เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจสอบกระเป๋า พบป้ายผ้า ตรวจค้นร่างกายนักกิจกรรมเพื่อความปลอดภัย

ซึ่งก่อนหน้านี้ กระแสไม่ร่วมพิธีรับปริญญา เกิดขึ้นมาแล้วในงานปริญญาของทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2563 ท่ามกระแสข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนสร้างผลในแง่การเมืองเชิงวัฒนธรรมที่สะเทือนต่อพิธีกรรมต่างๆในไทยที่มีสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามข้อมูลของไอลอว์ กลุ่มนักกิจกรรมจัดแคมเปญ ‘บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร’ เพจรณรงค์ไม่เข้ารับปริญญาบัตรประกาศท้าทายฝ่ายความมั่นคงโดยตรงว่าจะมี ‘บิ๊ก เซอร์ไพรส์’ ภายในงานแน่นอน ทำให้การรักษาความปลอดภัยเข้มงวดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์งานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เช่นการวางกำลังอย่างเข้มงวดโดยรอบมหาวิทยาลัย ที่ปรากฎกลุ่มชายในทรงผมสั้นเกรียนขาว 3 ด้านสวมเสื้อโปโลสีเหลือง ในบริเวณสนามฟุตบอลและรอบหอประชุมใหญ่ และมีการจัดจุดตรวจบัตรประชาชน อีกทั้งมีการพบกลุ่มคนที่มีแนวคิดขวาจัด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานรับปริญญา แต่มาเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการรณรงค์ดังกล่าวเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัย

ส.ส.ก้าวไกล มอง ‘จับก่อนค่อยแจ้งข้อหา’ ส่อใช้กฎหมายบิดเบือน

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่างถึงเหตุการณ์เช้าวันนี้ (14 มกราคม 2565) ในงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนักกิจกรรม 2 คนที่ไปชูป้ายรณรงค์ไม่รับปริญญา
.
โดยจากคลิปถ่ายทอดสดเหตุการณ์ จะได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวอ้างทำนองว่าการกระทำของ 2 นักกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความแตกแยก และการจับกุมเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้ง 2 คนเดินเท้าไปยังประตูหน้าพื้นที่ที่มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร (แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าได้เข้าใกล้พื้นที่จัดพิธีแล้ว ไม่เป็นที่ชัดเจนขณะจับกุมว่าได้แจ้งว่ากระทำความผิดอะไร
.
แต่ในเวลาต่อมา ผลปรากฏว่าทางตำรวจได้แจ้งข้อหาแก่ทั้ง 2 คน ว่า 1. ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง และ 2. ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน เปรียบเทียบปรับทั้งคู่เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท ไม่มีเรื่องการสร้างความแตกแยกหรือการเข้าใกล้เขตพิธีที่ตำรวจกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ถูกนำมาตั้งข้อหา

รังสิมันต์ระบุว่า ยังไม่นับว่าจุดที่เกิดการจับกุมเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ แต่เมื่อจับกุมทั้ง 2 คนแล้วกลับนำตัวไปยัง สภ.สันกำแพง โดยอ้างว่าตำรวจ สภ.ภูพิงค์ฯ ต้องกลับไปรับเสด็จฯ ที่งานรับปริญญาต่อ
.
ตนเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่เข้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้อาจเป็นการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนเพื่อทำลายเสรีภาพของประชาชนได้ เพราะในการจับกุมที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกล่าวอ้างเพื่อให้นักกิจกรรมหยุดการกระทำ ไม่ว่าจะข้ออ้างเรื่องการสร้างความแตกแยก ข้ออ้างเรื่องการเข้าใกล้เขตพิธี กลับไม่ได้อยู่ในข้อหาที่ได้ตั้งไว้ภายหลัง (ซึ่งนั่นหมายความว่าที่กล่าวอ้างไปนั่น อาจไม่เป็นเหตุตามกฎหมายที่จะให้หยุดการกระทำจริงๆ ได้) ในขณะที่ข้อหาเรื่องการส่งเสียงอื้ออึงหรือฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานนั้นก็ไม่เคยมีการแจ้งให้ชัดตั้งแต่แรก ทั้งที่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งได้ แต่กลับหามาเพิ่มเติมข้อหาในภายหลังเพื่อให้ดูมีเหตุแห่งการจับกุม ซึ่งผลของการจับกุมแบบงงๆ นี้ทำให้นักกิจกรรมทั้ง 2 คนไม่สามารถจัดกิจกรรมรณรงค์ได้อย่างลุล่วง
.
การจะรณรงค์ให้รับหรือไม่รับปริญญานั้น เป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมได้รับรู้ว่าพิธีรับปริญญาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และนำไปสู่การตัดสินใจทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับนโยบายต่อเรื่องดังกล่าวในอนาคต จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช้านี้ นักกิจกรรมทั้ง 2 คนก็เพียงแค่ชูป้ายและตะโกนรณรงค์อยู่ด้านนอกพื้นที่พิธี ไม่ได้มีผลเป็นการขัดขวางไม่ให้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรดำเนินต่อไปไม่ได้เลย แต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับกุมด้วยข้ออ้างที่เลื่อนลอยและข้อหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เพิ่มมาภายหลังนี้ เห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์เป็นเพื่อไม่ให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพที่พวกเขาพึงมีพึงใช้
.
อีกทั้งการใช้กฎหมายที่บิดเบือนแบบนี้ เป็นภัยต่อทั้งระบบกฎหมาย ต่อทั้งเสรีภาพของประชาชน ต่อทั้งความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ และต่อทั้งสถาบันที่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายอ้างว่ากำลังคุ้มครองอยู่ รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย