อ.นิติศาสตร์ ชี้ ปมใช้ ม.44 ปิดเหมืองแร่ รบ.ผิดสัญญา ต้องชดใช้ ซ้ำรอยค่าโง่คลองด่าน

วันนี้ (28 ส.ค.) ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นกรณีการใช้ ม.44 ปิดเหมืองอัครา ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย และการชดใช้ค่าเสียหายหากบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ชนะคดี

ผศ.ดร.ปิยบุตร ระบุว่า หลังจากที่ หัวหน้าคสช.ตัดสินใจใช้สถานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อปิดเหมืองอัครา ได้เคยแสดงความเห็นผ่านทางเฟสบุ๊คไว้แล้วว่า เรื่องนี้ไม่จบแค่มาตรา 44 เพราะมาตรา 44 มีอานุภาพ “คุ้มกัน” ได้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ในทางระหว่างประเทศไม่มี

ผศ.ดร.ปิยบุตร ระบุเพิ่มเติมว่า ช่วงที่กำลังขัดแย้งกันเรื่องปิดเหมืองอยู่นั้น ตนเคยบอกว่า หากจะปิดด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อมจริง ก็ต้องทำตามกระบวนการให้ถูกต้อง มีกระบวนการตรวจสอบ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ครบถ้วน มีรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายชี้แจง และต้องไม่ใช้ มาตรา 44 เด็ดขาด เพราะ หากตัดสินใจปิดเหมืองจริงโดยออกเป็นคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างน้อยทางบริษัทอัครา ก็จะได้ไปสู้ที่ศาลปกครอง กระบวนการก็จะทอดไปอีกยาว และรัฐบาลก็สามารถอ้างได้ว่ามีเหตุผลความจำเป็นในการปิดเหมือง แล้วให้ศาลปกครองวินิจฉัยเอาว่าคำสั่งปิดเหมืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การเลือกใช้ม.44 จบปัญหาเป็นการตัดสินใจที่ง่ายเกินไป คิดเพียงแค่ว่าทำให้เรื่องยุติเร็ว เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีใครโต้แย้งได้ แน่นอนว่า ตามแนวทางของศาลไทย บริษัทอัครา ฟ้องร้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช ตาม ม.44 หรือเรียกค่าเสียหายจากการปิดเหมืองไม่ได้ เพราะม.44 รับรองให้คำสั่งหัวหน้า คสช ตามมาตรา 44 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นที่สุด

“อย่างไรก็ตาม เกราะคุ้มกันของมาตรา 44 ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศ บริษัทออสเตรเลียเขาอ้างข้อตกลง FTA ที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลออสเตรเลีย แล้วรัฐบาลไทย (โดยการออกคำสั่งตาม ม 44) ไปปิดเหมือง โดยไม่มีเหตุผลรองรับ เขาลงทุนสำรวจแร่หมดเงินไปมหาศาล พอเขาจะขุดแร่เอาขึ้นมาใช้ตามข้อตกลง ก็ไปสั่งปิดเหมืองห้ามขุด แถมยังใช้ ม.44 สั่งปิด จนเขาต่อสู้คดีไม่ได้อีก ทำให้ธุรกิจของบริษัทออสเตรเลียเสียหาย ไม่เป็นไปตามข้อตกลง FTA ที่รัฐบาลทั้งสองต้องคุ้มครองนักลงทุนของอีกประเทศ เขาก็เอาเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ”

และว่า “ผมวิเคราะห์ดูแล้ว โอกาสที่รัฐบาลไทยจะชนะแทบไม่มีเลย รัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าเสียหายแน่นอน เพราะ ผิดสัญญา ผิดข้อตกลง อยู่แค่ว่า เราจะมีฝีมือเจรจาลดหย่อนลงมาได้เท่าไร ทราบข่าวมาว่ารัฐบาลเตรียมเจรจาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท อัครา เพื่อที่เรื่องจะได้จบ โดยไม่ต้องให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศชี้ขาด เพราะ ถ้าไปถึงขั้นตอนนั้น โอกาสที่ไทยจะแพ้ และต้องชดใช้ค่าเสียหาย 30,000 ล้านก็มีสูงมาก ดังที่เคยเกิดมาแล้วกับกรณี “ค่าโง่ทางด่วน” ผศ.ดร.ปิยบุตร กล่าว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปิยบุตร วิเคราะห์ต่อไปว่า “ประเด็นชี้ขาดที่ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบก็คือ การตัดสินใจเลือกปิดเหมืองโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี่แหละ เพราะ เท่ากับว่า ฝ่ายไทยเลือกใช้อำนาจเด็ดขาดปิดเหมือง ป้องกันไม่ให้มีใครมาโต้แย้งในศาลของประเทศไทยได้ แบบนี้ส่อพิรุธอยู่ในตัว หากมีความจำเป็นต้องปิดเหมืองจริง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ก็ว่าไปตามกระบวนการ แสดงเหตุผล หลักฐานให้ครบถ้วน แล้วก็ตกลงเรื่องค่าชดเชยกันไป แต่พอใช้มาตรา 44 ก็เหมือนกับคุณกลัวที่จะต้องรับผิดชอบตามมา กลัวที่จะถูกฟ้อง กลัวเรื่องจะไม่จบ เลยเอามาตรา 44 มาปิดปาก โดยคงลืมไปว่า มาตรา 44 ปิดปากคนไทยได้ในประเทศไทยเท่านั้น”

ผศ.ดร.ปิยบุตร คาดว่า หากการเจรจาไม่เรียบร้อย เรื่องต้องไปสู่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจริง ก็คงใช้เวลาสักระยะ ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คงพ้นจากตำแหน่งแล้ว คราวนี้ก็กลายเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าก็รับผิดชอบไป ซึ่งเงินที่เอาไปจ่ายก็คืองบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนนั่นเอง ตนขอเอาใจช่วยข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องรับหน้าที่เจรจา หวังว่าจะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายมากจนเกินไป อยากให้กรณีนี้เป็นบทเรียนของการใช้มาตรา 44 เป็นคติเตือนใจว่า ความเด็ดขาด ความไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ถูกตรวจสอบของอำนาจตามมาตรานี้ จริงๆแล้วเป็นอันตราย

“กรณีที่น่าคิดต่อไป คือ เมื่อรัฐบาลไทยจ่ายเสียหายให้กับบริษัทไปแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อ หากว่ากันตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่นำมาใช้กับคุณเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่า ธปท. จากกรณีปกป้องค่าเงินบาท หรือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากกรณีจำนำข้าวแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกัน นั่นคือ ต้องไปตามไล่เบี้ยเอากับคนออกคำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมือง อย่างไรก็ตาม ก็อาจอ้างกันอีกว่า มาตรา 44 นี้ได้รับการรับรองไว้ว่าชอบด้วยกฎหมายเสมอ ซึ่งคงต้องตามดูต่อไปในอนาคต “ผศ.ดร.ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย