เอกชน มอง ‘โอมิครอน’ กระทบเศรษฐกิจไม่มาก คาดฟื้นไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวมาเพิ่มขึ้น

กกร.ชี้ ‘โอมิครอน’ กระทบเศรษฐกิจไม่มาก คาดฟื้นไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวมาเพิ่มขึ้น จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้น ตั้งเป้าจีดีพีปีนี้โต 3-4.5%

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2565 การท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในระยะสั้น เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศมีการยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 และขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการเคลื่อนย้ายของคน แต่มองว่าผลจากโอมิครอนจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เพราะความรุนแรงของโรคที่ลดลงและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้

“ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจท่องเที่ยวในประเทศระดับสูง ส่วนนักเดินทางต่างชาติคาดการณ์ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นปลายไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปีประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศ ประมาณ 5-6 ล้านคน หากไม่เกิดปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 2 ที่ประชุม กกร.จึงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% การส่งออกคาดขยายตัวในกรอบ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2-2% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป”

นอกจากนี้ กกร.ยังหารือความคืบหน้าการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบของไทย โดยเสนอให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยขอพิจารณาออก พ.ร.ก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีก 90% ตามมาตรา 55 เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศ และยังหารือถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ควรมีกลไกหรือนโยบายสนับสนุนการสร้างรายได้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าพุ่งสูง เป็นปัจจัยกระตุ้นปัญหาหนี้ครัวเรือน อยากให้แก้ไขเรื่องหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลทั้งคนละครึ่งและช้อปดีมีคืน สามารถประคองกำลังซื้อได้ระดับหนึ่ง จึงจำเป็นที่รัฐต้องวางมาตรการเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการดูแลสภาพคล่องธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)

“อยากให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายเอกชนในการซื้อชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง เพื่อช่วยแรงงานในระบบได้รับการตรวจมากขึ้น พร้อมกับออกหลักเกณฑ์ควบคุมโควิดในแต่ละจังหวัดให้เท่าเทียม ไม่เกิดความสับสน ให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะอาการของโอมิครอนที่ไม่รุนแรง แต่ต้องได้รับวัคซีนที่มากพอ” นายสุพันธุ์ กล่าว