“วิโรจน์” ชี้ #แพงทั้งแผ่นดิน สัญญาณเศรษฐกิจไทยฟุบเฟ้อ ทุนใหญ่ยิ้มร่าแต่ปชช.เดือดร้อน

วันที่ 12 มกราคม 2565 เว็บไซต์พรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่บทความทัศนะเศรษฐกิจไทยในห้วงกระแส แพงทั้งแผ่นดิน ของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคและส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อันสืบเนื่องจากภาวะหมูขาดตลาดจนราคาถีบสูงขึ้นจากการระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมูจนล้มตายหลายแสนตัวในช่วงปี 2562-2564 รัฐบาลเลือกดำเนินแก้ไขอย่างเงียบๆโดยไม่เปิดเผยปัญหาต่อสาธารณชนแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งได้จนทำให้หมูราคาสูงขึ้นตั้งแต่ปีใหม่ โดยเนื้อหาระบุว่า

“แพงทั้งแผ่นดิน สัญญาณเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ หนี้ครัวเรือนเพิ่ม รายได้หด ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นวันละ 10-40 บาทต่อวันต่อคน คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายน้อย เดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่นายทุนยิ้มร่าลูบปากได้โอกาสกินรวบประเทศ”

ปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นของประชาชนต่างพาเหรดปรับขึ้นราคาในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ทำให้ค่าครองชีพในการดำเนินชีวิตของทั้งตนเอง และครอบครัวปรับเพิ่มขึ้นแบบเฉียบพลัน อาทิ

🔘 ราคาหมูเนื้อแดง ปรับราคาขึ้นจาก 170 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 200 บาทต่อกิโลกรัม

ต้องยอมรับนะครับว่า การบริโภคโปรตีนยังคงเป็นความจำเป็นทางด้านโภชนาการของประชาชน เมื่อเนื้อหมูมีราคาแพงขึ้น ประชาชนก็ต้องหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่น พ่อค้าแม่ขายก็ต้องหันไปซื้อเนื้อสัตว์ประเภทอื่นมาประกอบอาหารขาย ทำให้การบริโภคโปรตีน และเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมา

🔘 ไข่ไก่ ปรับราคาขึ้น 6 บาทต่อแผง จากฟองละ 2.80 บาท เป็นฟองละ 3 บาท

🔘 เนื้อไก่ ปรับราคาขึ้น 10 บาทต่อกิโลกรัม ราคาไก่ตัวปรับราคาขึ้นจาก 80 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 90 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อสำรวจราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งขาว หรือปลากะพง ต่างก็ปรับขึ้นราคากันหมด อย่างกุ้งขาว (ขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม) ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 275 บาทต่อกิโลกรัม ปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 20-30 บาท

นอกจากราคาเนื้อสัตว์แล้ว ค่าครองชีพในวิถีชีวิตประจำวันที่มีความจำเป็นอื่นๆ ต่างก็ปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น

🔘 ก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งปัจจุบันราคาอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ก็จะมีการปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

🔘 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

🔘 ค่าโดยสารเรือคลองแสนแสบ ในวันที่ 14 มกราคม 2565 ก็จะปรับขึ้นค่าโดยสารระยะละ 1 บาท ส่งผลให้ค่าโดยสารขยับจาก 8-18 บาท เป็น 9-19 บาท

🔘 ค่าไฟฟ้า ก็มีการปรับเพิ่มค่า FT ประจำงวด มกราคม-เมษายน 2565 ที่ 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 4.63%

ค่าครองชีพที่พาเหรดกันปรับขึ้นในทุกด้านแบบนี้ คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ปรับเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 10-40 บาทต่อวันต่อคน หรือเดือนละ 300-1,200 บาทต่อคน ถ้าครอบครัวหนึ่งมีอยู่ 4 คน ก็เท่ากับว่ารายจ่ายครัวเรือนอาจจะปรับเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 1,200-4,800 บาท เลยทีเดียว

ถ้ามาพิจารณาในมุมของรายได้ ก็จะพบว่าประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งพ่อค้าแม่ขายรายย่อย เจ้าของร้านผู้ประกอบการรายเล็กๆ คนทำงานรับจ้างทั่วไปหาเช้ากินค่ำ ตลอดจนลูกจ้างมนุษย์เงินเดือน ต่างประสบปัญหากันเต็มไปหมด พ่อค้าแม่ขาย คนทำงานรับจ้างทั่วไป หลายรายยืนยันว่ารายได้ลดลง 30%-50% ลูกจ้างหลายรายเงินเดือนไม่ขึ้น ไม่มีค่าล่วงเวลา จำนวนไม่น้อยยังต้องหยุดงานบางวันโดยไม่ได้รับค่าจ้างอยู่เลย นี่ยังไม่นับปัญหาราคาข้าว และพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ จนทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง และประสบกับปัญหาขาดทุน หนี้สินล้นพ้นตัว

จำนวนผู้ว่างงานก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในไตรมาส 3 ของปี 64 มีจำนวนผู้ว่างงานถึง 8.7 แสนคน เพิ่มขี้นมาจากไตรมาสที่ 2 ที่มีจำนวนผู้ว่างงานที่ 7.3 แสนคน ถึง 1.4 แสนคน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในจำนวนนี้ที่น่าเป็นห่วงมากๆ ก็คือ อัตราการว่างงานในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่มีแนวโน้มว่างงานถึง 2.9 แสนคน ซึ่งสะท้อนว่าความต้องการในการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะมีแนวโน้มลดลง จากการลงทุนจากภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศ ที่ยังมีแนวโน้มชะงักงัน และชะลอตัวอยู่

นอกจากปัญหารายได้ที่ลดลง และค่าครองชีพ และรายจ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ต้องอย่าลืมว่าอีกปัญหาหนึ่ง ที่น่ากังวลมากๆ ก็คือ การที่ประชาชนต้องแบกหนี้ครัวเรือนก้อนมหาศาลในระดับ 14.35 ล้านล้านบาท และยังพบว่าครัวเรือนต่างๆ ยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่อง และนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

และที่ต้องย้ำให้รัฐบาลตระหนัก ก็คือ ปัญหารายได้ครัวเรือนที่ลดลง ค่าครองชีพและรายจ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนภาระหนี้ครัวเรือนที่หนักอึ้งและยังเพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่อง คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ คนตัวเล็กตัวน้อย คนจนคนยากที่หาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ขายรายย่อย ผู้ประกอบการเจ้าของร้านรวงรายเล็กๆ

คนที่ทำงานได้ค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 331 บาท ซึ่งเดือนหนึ่งจะมีรายได้ 7,944 บาท (ทำงาน 24 วันต่อเดือน) ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเดือนละ 300-1,200 บาทต่อเดือน นี่เท่ากับว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4%-15% เลยทีเดียว ยิ่งถ้ารายได้ลดลงอีก ก็ยิ่งทำให้ปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น กระทบกับคุณภาพชีวิตของทั้งตนเอง และครอบครัวเพิ่มขึ้น

หนี้ครัวเรือนก็เช่นเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนทุกๆ 10,000 บาท ประเมินได้ว่าจะทำให้มีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 100-150 บาท ยังไม่รวมภาระของการส่งต้นเงินกู้ ถ้าคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม 50,000 บาท เท่ากับว่าในแต่ละเดือนต้องมีภาระในการส่งดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 500-750 บาท ซึ่งคิดเป็น 3%-5% ของรายได้เลยทีเดียว

จริงๆ ราคาข้าวของที่แพงขึ้น หรือที่เรียกว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” หากเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดี ราคาข้าวของแพงจะแพงขึ้นบ้าง ในขณะที่คนก็มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ก็คงจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร แต่นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยแน่ๆ

ปัจจุบัน หลายภูมิภาคในโลกเริ่มที่จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว รัฐบาลในประเทศของเขาสามารถที่จะควบคุมการระบาด ให้ดำเนินควบคู่ไปกับการใช้ชีวิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนได้ พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการในการใช้พลังงาน และความต้องการในการบริโภคภายในประเทศก็เพิ่มขึ้น ไม่สังเกตหรือว่า ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยส่งสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาได้สักพักแล้ว

หันกลับมามองที่ประเทศไทย สาเหตุหนึ่งที่ประชาชนประสบกับความเดือดร้อนแสนสาหัสจากภาวะเงินเฟ้อ เป็นเพราะว่า ประเทศไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก สังเกตได้จาก การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนในประเทศ การจ้างงานในประเทศ การนำเข้าเครื่องจักรและปัจจัยการผลิต อัตราการใช้กำลังการผลิต ของประเทศไทย ยังไม่อยู่ในระดับที่ต่ำ หรือสูงไม่เพียงพอ ดัชนีหลายตัวยังมีแนวโน้มชะลอตัวด้วยซ้ำ พอราคาพลังงาน อย่างเช่น น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม ปรับเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามกลไกของตลาดโลก คนไทยโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ยังไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถหารายได้เพิ่มได้ เงินทุนก็ไม่มี แหล่งเงินทุนก็เข้าไม่ถึง แถมยังแบกหนี้ครัวเรือนก้อนเบ้อเริ่มไว้บนบ่า ตลอดจนไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ จึงประสบกับความเดือดร้อนอย่างหนัก ราคาสินค้าที่แพงขึ้น จริงๆ ผู้ขายไม่อยากจะปรับราคาขึ้นด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าหากราคาแพงขึ้น คนจะซื้อน้อยลง แต่ที่ต้องปรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเพราะต้นทุนมันดันขึ้นมา (Cost Push) จนแบกรับไม่ไหวแล้วจริงๆ

นี่คือสัญญาณของปัญหาเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ (Stagflation) ที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ และถ้ารัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ หรือทำแบบขอไปที ในท้ายที่สุด ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขายตัวเล็กๆ จะทยอยล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ และจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปในที่สุด โดยทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจการ หรือที่ดิน ก็จะถูกกลุ่มนายทุนใหญ่ที่มีทั้งเงินทุน และวงเงินกู้ก้อนใหญ่ในอัตราดอกเบี้ยแสนถูก กว้านซื้อ และฮุบเอาไปเป็นของตน จนไม่เหลือพื้นที่ในการทำมาหากินของคนตัวเล็กตัวน้อย นอกจากการไปเป็นลูกจ้างค่าแรงราคาถูกให้กับกลุ่มนายทุนเหล่านั้น

แล้วก็พอได้แล้วกับการเสนอแนะของรัฐบาลประมาณว่า ถ้าหมูแพงก็ให้ประชาชนไปกินอย่างอื่น พอไก่แพงก็ให้เลิกกินไก่ไปกินอย่างอื่น อะไรแพงก็ไล่ให้ประชาชนไปกินอย่างอื่น ข้อเสนอแนะแบบนี้ ประชาชนเขาคิดเองได้ตามเงินในกระเป๋าที่เขามี ไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาสั่งสอน ถ้ารัฐบาลคิดได้แค่นี้ พอเนื้อสัตว์ทุกอย่างแพงขึ้นหมด เพราะในเมื่ออุปสงค์ในการบริโภคโปรตีนของประชาชนยังคงใกล้เคียงเดิม การที่ประชาชนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นทดแทน ก็จะทำให้อุปสงค์ในการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทนั้นเพิ่มขึ้น และราคาก็จะปรับเพิ่มขึ้นตาม สุดท้ายประชาชนไม่แคล้วต้องกินได้แค่ข้าวเปล่าหรอกหรือ

ประเทศที่ไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก ไม่มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ไม่มีการลงทุนในภาคเศรษกิจจริง (Real Sector) ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ้างแรงงานที่มีทักษะที่มีเงินเดือนสูง ไม่มีห่วงโซ่อุปทานของการผลิต ที่จะเป็นโอกาสในการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ๆ

ประเทศที่เต็มไปด้วยคนจนคนยาก ก็จะเป็นโอกาสให้นายทุนได้จ้างแรงงานราคาถูกในอัตราค่าแรงวันละ 331-400 บาทต่อไปได้เรื่อยๆ ประชาชนก็จะมีรายได้เพียงแค่สามารถที่จะซื้อเนื้อสัตว์ราคาถูกบริโภค หาความสุขได้เพียงแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูก ที่ผูกขาดเอาไว้โดยนายทุน ภาวะเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการต่างล้มหายตายจากไปแบบนี้ก็เป็นอีกโอกาสของกลุ่มทุนใหญ่ในการกว้านซื้อเพื่อครองส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นกว่าเดิม ผูกขาดมากกว่าเดิม!

ปัญหาข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ จึงไม่ใช่ปัญหาความเดือดร้อนในระยะสั้น แต่กำลังจะก่อตัวเป็นปัญหาที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่สิ้นหวัง ต้องคำสาปของทุนผูกขาด