‘ประยุทธ์’ เตือนประชาชน อย่าตระหนก “เดลตาครอน” ศบค.โวเข้มเวิร์คฟรอมโฮม จนท.ทำเนียบติดโควิดเพียง 3 ราย

‘ประยุทธ์’ เตือนประชาชน อย่าตระหนก โควิดลูกผสม ‘เดลตาครอน’ ชี้ผลศึกษายังไม่ชัดเจน ขอให้เชื่อมั่นระบบสาธารณสุขไทย ป้องกัน-เฝ้าระวังตัวเอง ทำเนียบแจง จนท.ติดโควิดเพียง 3 ราย เหตุเข้มมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม

วันที่ 10 ม.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้จากกรณีของความห่วงกังวลเกี่ยวกับการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ในสาธารณรัฐไซปรัส ที่มีการตั้งชื่อว่า “เดลตาครอน (Deltacron)” ซึ่งเป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลต้ากับสายพันธุ์โอมิครอน และพบผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 25 ราย นั้น

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานที่เป็นทางการออกมา อย่างไรก็ดี ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 25 ตัวอย่างจากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ซึ่งทางไซปรัสได้อัปโหลดไว้ มาวิเคราะห์และพบว่ารหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของโอมิครอนเข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน จึงอาจต้องใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก ชี้ว่า กรณีการพบเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์เดลต้ากับสายพันธุ์โอมิครอนภายในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากตัวอย่างทั้งหมดไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน

ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดเกี่ยวกับกรณีการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “เดลตาครอน” จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกตกใจเกินไป พร้อมขอให้มั่นใจว่า หากเกิดสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นจริง หน่วยงานทางการแพทย์ของไทยมีบุคลากร ความรู้ ความสามารถจะสามารถตรวจพบได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน ขอให้ประชาชนยังคงเฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม

ขณะที่ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงว่า จากมาตรการทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม ของหน่วยงานต่างๆ ตามที่ศบค. กำหนดให้ปฏิบัติงานถึงวันที่ 31 ม.ค.นั้น จะต้องไม่กระทบต่อการบริการประชาชนหรือการดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ

ทั้งนี้ มีตัวอย่างที่ชัดเจนจากกรณีที่มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สลน.) ติดโควิด-19 จำนวน 3 ราย เมื่อสอบสวนโรคแล้วพบว่าเกี่ยวโยงกับการได้รับเชื้อมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่เนื่องจากเวิร์ก ฟรอม โฮม จึงพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่เกิน 5 ราย

โดยทั้งหมดได้ถูกแยกกักตัว ไปรักษาเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นความโชคดีของหน่วยงานที่มีมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม ทำให้ไม่มีการระบาดเพิ่มเติม เนื่องจากเจ้าหน้าที่สลน. มีจำนวนมาก หลายร้อยคน หากมาทำงานเต็มรูปแบบ อาจจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้ หรือมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมากกว่านี้