“เส้น-ด้าย” ชี้ยอดติดเชื้อโควิดในเชียงใหม่พุ่งหลังปีใหม่ กว่าร้อยสายร้องขอหาเตียง

เมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2565) น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมพู อาสาสมัครเครือข่าย “เส้น-ด้าย” เชียงใหม่ ได้เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของโควิดภายในจังหวัดเชียงใหม่หลังผ่านเทศกาลปีใหม่ 2565 แล้ว พบว่า ตั้งแต่เปิดเมืองเพื่อรับท่องเที่ยวเข้ามา ตัวเลขผู้ติดต่อขอเตียงกับกลุ่มเส้นด้ายมีมากขึ้น  แต่ก็ยังไม่มีมาตรการของจังหวัดขึ้นว่ามีมาตรการป้องกันที่ชัดเจนแน่นอน

พอรับรู้จากหน้างาน หรือรับสายจากเส้นด้ายเชียงใหม่ จำนวนเตียงของโรงพยาบาลเอกชนเต็มแล้ว เตียงของ(ซี-ไอ “เขตกักกันชุมชน Community Isolation) เต็มแล้ว ผู้ป่วยที่มีผล ATK เป็นบวก แต่ไปทำ RT-PCR ตามสิทธิประกันสังคมของแต่ละคน ถ้าผลเป็นบวก จะต้องเลขซีเอ็มหรือเลขผู้ป่วยเพื่อรอรับยาและทำ Home Isolation ถ้าสมมติผู้ป่วยสีเขียว กลายเป็นสีส้มหรือแดง ก็จะต้องหาเตียงกันต่อไป เพราะตอนนี้ โรงพยาบาลก็พยายามขยับขยาย หาเตียงให้ผู้ป่วยสีส้ม-แดง อยู่

“ส่วนโรงพยาบาลสนามของศูนย์ประชุมฯเดิม ตอนนี้อยู่ระหว่างจัด Lanna Expo อยู่ในเดือนมกราคม ก็เกิดกังวลว่า ถ้ายังไม่ทำโรงพยาบาลสนาม น่าจะเกิดวิกฤตหาเตียงผู้ป่วยโควิดตามมา” อาสาสมัครเส้นด้าย กล่าว

น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวเปรียบเทียบกับสถานการณ์ระบาดสายพันธุ์เดลต้าในเชียงใหม่เมื่อปีก่อนว่า ตอนนี้เส้นด้ายเชียงใหม่ได้รับการประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยมากขึ้นเป็น 2-3 เท่า จากยอดที่จังหวัดแจ้ง กับทางผู้ป่วยติดต่อมากับตัวเองและทีมงานและช่องทางต่างๆ รอบนี้อาจจะเกิดจากไม่ได้มีความชัดเจนในการประสานงาน ทำวิธีการ HI หรือจะต้องประสานผู้ป่วยของจังหวัดยังไงด้วย

“เราเปิดเมืองแล้ว ก็จะมีท่องเที่ยวเข้ามาที่เชียงใหม่ แล้วพอไปติดต่อโรงพยาบาลแต่ทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่ในเชียงใหม่ ก็จะเป็นปัญหาว่าโรงพยาบาลไม่รับคนที่ไม่มีทะเบียนบ้านในเชียงใหม่ ตรงนี้เป็นปัญหาว่าผู้ป่วยจะทำยังไง ตอนนี้เส้นด้ายยังประสานกับทางโรงพยาบาลหรือหาทางออกอื่นว่า นักท่องเที่ยวไทยจากต่างจังหวัดหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วติดโควิดจะทำยังไง” น.ส.เพชรรัตน์ กล่าว

เพชรรัตน์กล่าวอีกว่า นอกจากในเขตเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังมีจากอำเภออื่นก็จะเป็นทางเดียวกัน เช่น สันกำแพง ที่ได้รับประสานในช่วงเช้าที่ผ่านมา ต่างจังหวัดก็มีด้วย ถ้าทราบว่าทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด จะไม่ได้รับสิทธิรักษาในเชียงใหม่ก่อน ทั้งที่เป็นประชากรที่มาศึกษาต่อหรือทำงานในเมืองเชียงใหม่ แต่เหมือนถูกทอดทิ้ง ไม่มีทางออกว่าจะทำยังไง

เมื่อสอบถามถึงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขในพื้นที่เมืองเชียงใหม่นั้น น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ถ้าเป็นผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤตจริงๆ จะไปรพ.นครพิงค์ รพ.สวนดอก รพ.มหาราชเชียงใหม่ ซึ่งทราบว่าเตียงเต็มแล้ว เพราะว่าหลังปีใหม่ ก่อนหน้านี้ เราเคลียร์ผู้ป่วยวิกฤตและสีส้มไปก่อนแล้ว พอหลังปีใหม่ มีผู้ป่วย RT-PCR ทั้งสีเขียวและไม่เขียว ก็ต้องรับผู้ป่วยมาก่อน การที่จะเคลียร์ผู้ป่วยออกจากวอร์ดของรพ.แรกๆ จะต้องรักษาให้หายก่อนที่จะรับผู้ป่วยวิกฤตเข้ามา

นอกจากนี้ น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วยที่ติดต่อกับเส้นด้าย ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 98% โดยราว 60% ฉีดสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า

ล่าสุด น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ได้รับการประสานจากมูลนิธิหนึ่งในเชียงใหม่ ว่ามีคนติดโควิด และตรวจ ATK มาแล้ว 2 วัน แล้วไปทำ RT-PCR ก็บวกแต่ไม่ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลว่า จะต้องทำยังไงต่อ ยังไม่ได้เลขผู้ป่วย ซึ่งตอนนี้ ยังไม่ได้รับการประสานว่าจะส่งยาหรืออะไรให้เขา

“ถ้าการสื่อสารจากจังหวัดที่ดูดีและเป็นระบบระเบียบกว่านี้ คงจะไม่วุ่นวายขนาดนี้ แต่จากยอดผู้ป่วยที่พุ่ง เชียงใหม่ก็เปิดเมืองแล้ว มีงาน Expo อีก แล้วยิ่งการสื่อสารมาตรการโควิดไม่ชัดเจน ทำให้นักท่องเที่ยวหรือคนอยู่อาศัยในเชียงใหม่ เขาไม่รู้จะทำยังไง คือเป็นธรรมชาติของคนติดโควิดที่จะหาเตียงก่อน คือเราจำเป็นต้องแจ้งว่า ถ้าอาการไม่หนัก จังหวัดกำหนดให้ทำ RT-PCR ถ้าผลเป็นบวกแต่ยังไหวและบ้านสามารถทำ HI ได้ ก็ให้กักตัวในบ้าน” น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวและว่า แม้ ศบค.จะประกาศมาตรการล่าสุดแล้ว แต่ทางจังหวัดไม่มีประกาศว่าจะทำยังไง