ดีพร้อม ดึงรายได้เข้าวิสาหกิจชุมชนตอบโจทย์การท่องเที่ยวแนวใหม่ “ไมโครทัวริสซึ่ม” พร้อมติดแบรนด์ CIV สู่หมุดหมายใหม่แห่งการท่องเที่ยวในยุคเซฟตี้   

              กรุงเทพฯ 28 ธันวาคม 2564 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวชุมชน – กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้พร้อมรับการท่องเที่ยวในยุคใหม่ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางทางไมโครทัวริสซึ่ม : Micro Tourism โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ให้มีความแข็งแกร่ง การส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาด้านออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับหมู่บ้าน CIV ให้พร้อมกับการท่องเที่ยวที่เน้นความปลอดภัยและเว้นระยะห่าง พร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ฯลฯ

            นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ดีพร้อม ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ  ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มดังกล่าวประสบปัญหาในด้านการเติบโตและการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ เนื่องด้วยข้อจำกัดจากมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตามความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงเปิดประเทศ เพื่อนำมายกระดับการท่องเที่ยว – วิสากิจชุมชน ซึ่งพบว่าหลังจากนี้มีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยว และประชาชนจะหันมาให้ความสนใจกับโมเดล “Micro Tourism : ไมโครทัวริสซึ่ม” ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จำกัดในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ความปลอดภัย เวลา และค่าใช้จ่าย รวมถึงทางเลือกของสถานที่ที่ผู้คนจะให้ความสนใจไปสู่เมืองเล็ก เมืองรอง หรือชุมชน เนื่องด้วยเป็นการหลีกเลี่ยงความแออัดจากสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม พร้อมทั้งตอบโจทย์กับเรื่องงบประมาณที่มีอย่างจำกัดมากขึ้น

            ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการท่องเที่ยวชุมชน และวิสาหกิจชุมชนให้ได้มีโอกาสสร้างมูลค่าจากการดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ดีพร้อม จึงได้วางแนวทางฟื้นฟูภาคส่วนดังกล่าวไว้ดังนี้ 

ไทดำบ้านนาป่าหนาด

            • การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ให้มีความแข็งแกร่งและชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในเรื่องการบริหารจัดการอัตลักษณ์ชุมชนให้สามารถสร้างมูลค่าได้ทั้งในลักษณะของการผลิตสินค้า และทำให้สินค้าเหล่านั้นสามารถออกสู่ตลาดได้ทั้งในช่องทางออนไลน์ – ขายผ่านนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในชุมชน ต่อเนื่องถึงการผลักดันให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยการรู้จักวิธีจัดทำบริการท่องเที่ยว ที่พัก รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว

            • ส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการหรือแต่ละชุมชนต้องเร่งปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยแนะนำถึงช่องทางการค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) ที่มีประสิทธิภาพ เทคนิคในการไลฟ์สดเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ที่น่าสนใจของชุมชน และทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น การใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาที่พัก หรือ บริการร้านอาหารบนอินเทอร์เน็ต โดยยังรวมไปถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการพัฒนาสินค้า เช่น การลดของเสีย การทำให้สินค้าเก็บได้นาน กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

บ้านนาเชือก

            • การช่วยด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดมูลค่าในผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านหน่วยงานสำคัญ เช่น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของดีพร้อม ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai – IDC) และสิ่งที่จะมุ่งเน้นคือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีทั้งความสวยงาม เหมาะกับช่องทางค้าขาย และสื่อถึงแหล่งผลิตหรือพื้นที่ท่องเที่ยวในแต่ละแห่ง ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังจะมีการเข้าไปช่วยการพัฒนาคอนเทนต์เชิงรูปภาพ วิดีโอ บทความออนไลน์ และยังครอบคลุมถึงการถ่ายภาพที่สำหรับการโฆษณา – ประชาสัมพันธ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้ามาติดตามชุมชนเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มการดึงผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) ในสาขาต่าง ๆ มาประชาสัมพันธ์ และดึงฐานผู้ติดตามของแต่ละรายให้รู้จักสินค้า และบริการท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มมากขึ้น

           “นอกเหนือจากการส่งเสริมข้างต้นแล้ว ดีพร้อม ยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมมาตรฐานให้กับสินค้าชุมชน รวมถึงชุมชนท่องเที่ยว CIV ซึ่งเบื้องต้นได้มอบหมายให้กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน พัฒนาโครงการที่ตรงกับปัญหา (Pain Point) และความต้องการของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน   โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนอีกทั้ง ยังมีแผนส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) เพื่อให้สอดรับกับความหลากหลายของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น และสามารถสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน CIV เพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและสมุนไพร หรือแม้แต่กระทั่งชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงยังได้ตั้งเป้าหมายสร้างมูลค่าให้กับสินค้าวิสาหกิจชุมชน – ชุมชน CIVนายณัฐพล กล่าวสรุป

            สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6860 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.diprom.go.th/th/ หรือ www.facebook.com/dipromindustry

บ้านนาต้นจั่น
บ้านนาต้นจั่น
บ้านนาป่าหนาด
บ้านไร่กองขิง
บ้านไร่กองขิง
บ้านศาลาดิน
หมู่บ้านผาหมี
หมู่บ้านผาหมี
บ้านนาเชือก

บทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ

คุณผกากานต์ รุ่งประชารัตน์ ผู้นำชุมชนบ้านผาหมี เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านผาหมี ที่นี่เป็นชุมชนของชาวอาข่าที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถือเป็นชุมชนที่เข้มแข็งในด้านการทำ ไร่ชา ไร่กาแฟ มีการทำการเกษตรที่มั่นคงและมีรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่หมู่บ้านแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ทำให้มีวิวธรรมชาติรายล้อมงดงาม ผู้คนจากต่างถิ่นเริ่มพากันเดินทางมาท่องเที่ยว แต่เนื่องจากคนในพื้นที่ยังไม่มีความรู้เข้าความเข้าใจเรื่องของการบริหารจัดการชุนชมที่ดีมากนัก จึงได้เข้าร่วมกับทางกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนในการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) กับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยทางกรมฯ ได้เข้ามาวิเคราะห์ปัญหาหลักของชุมชนบ้านผาหมี มีผู้เชียวชาญให้คำปรึกษาแนะนำการนำอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝากของที่ระลึกประจำชุมชน (Souvenir) ที่จะสร้างการรับรู้ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสู่ตลาดนักท่องเที่ยว และให้คำปรึกษาแนะนำด้านการนำมาตรฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรมและอื่นๆ ที่เหมาะสมยั่งยืน อีกทั้งยังให้คำปรึกษาแนะนำช่องทางการตลาดสมัยใหม่ (Online และ Offline) ที่มีความเหมาะสมกับความพร้อมของชุมชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยในอนาคตทางชุมชนมีแผนในการดึงเอกลักษณ์ของทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นมาสัมผัสความเป็นอยู่ที่สอดแทรกไปด้วยวัฒนธรรม รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ให้เกิดความแตกต่างและโดดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย