NITIHUB แถลงขอนิติศาสตร์ มธ. ยุติเชิญ ‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ เป็นอาจารย์พิเศษ

วันที่ 10 ธันวาคม 2564 เฟซบุ๊กเพจ NITIHUB ชุมชนของกลุ่มนักกฎหมายรุ่นใหม่จากหลายสถาบัน ที่มีผู้กดติดตามกว่าหมื่นคน ออก จดหมายเปิดผนึก ขอให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุติการเชิญ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ มาสอนในฐานะอาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยระบุว่า ความเห็นของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หลายเรื่อง ที่เป็นข้อความแชตในกลุ่มในอาจารย์นิติศาสตร์ มธ.ที่หลุดออกมาในโลกออนไลน์ มีเนื้อหาในเชิง ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปรากฎอยู่ในตัวของผู้สอนกฎหมาย

เรื่อง ขอให้ยุติการเชิญนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ มาสอนในฐานะอาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ

เรียน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื่องด้วยกรณีข้อความแลกเปลี่ยนที่ถูกเผยแพร่ออกมาในขณะนี้ ทำให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจหลักกฎหมายอาญาพื้นฐานที่คลาดเคลื่อน บิดเบือน ของตัวอาจารย์ผู้สอน ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นไม่เพียงแต่ขัดต่อหลักกฎหมายอาญา ว่าด้วยสิทธิการประกันตัว แต่ยังแย้งต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) อันต้องสันนิษฐานว่าบุคคลใดๆย่อมเป็นผู้บริสุทธิจนกว่าจะมีคำพิพากษา และมีสิทธิในการต่อสู้คดีของตนอย่างเต็มที่

อีกทั้งการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปรากฎอยู่ในตัวของผู้สอนกฎหมาย ที่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเป็นแบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี อันจะต้องเคารพในความหลากหลาย เคารพในสิทธิมนุษยชน และเคารพในความเป็นคน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่ม NITIHUB จึงขอเรียกร้องให้ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุติการเชิญ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ มาสอนในคณะของตน เพื่อให้ผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งมากกว่านี้ “เห็นคนเป็นคนเท่ากัน” มากกว่านี้มาแทนที่

เพราะไม่ว่าเป็นบัวเหล่าไหน เพศอะไร ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะมีสิทธิได้รับการศึกษาจากคนที่เห็นคนเป็นคนเท่ากัน

ด้วยความเคารพ
Nitihub
9 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์มุมมองและทัศนะของอาจารย์ด้านกฎหมายและเป็นถึงหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่สะท้อนออกมาผ่านคำวินิจฉัยนับตั้งแต่กรณีคำวินิจฉัยกรณีปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ตีความว่ามีลักษณะล้มล้างการปกครองฯแต่คำอธิบายในการรองรับคำวินิจฉัยกลับถูกวิจารณ์หนักโดยเฉพาะการทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและประกาศถึงความเป็นระบบการปกครองของไทยที่ไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุขอย่างที่เรียกกันโดยทั่วไป

จนถึงกรณีคำวินิฉัยความขัดกันของรธน.กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 ว่าด้วยประเด็นสมรสเท่าเทียม เพื่อให้การสมรสสามารถทำได้โดยไม่จำกัดบนฐานของเพศสภาพ ท่ามกลางกระแสการสมรสของกลุ่ม LGBTQ ทว่าศาลรธน.วินิจฉัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งฯมาตราดังกล่าว เกี่ยวกับการสมรสที่ต้องเฉพาะชายกับหญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรธน.ถูกสังคมฝ่ายสนับสนุนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศวิพากษ์วิจารณ์ที่ตั้งอยู่บนฐานคติแบบเก่า ล้าสมัย

อีกทั้งมีความเกี่ยวเนื่องกับคำวินิจฉัยของนายทวีเกียรติ อย่างกรณี บทความในวารสารนิติศาสตร์ในชื่อ  “กระทำชำเราอย่างไรจึงไม่ผิดกฎหมาย” ว่าด้วยแสดงถึงช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ ทว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ ประโยคและถ้อยคำในบทความที่ถูกมองว่าเป็น มุขข่มขืน (Rape Joke)  และล่าสุดกรณีแชทหลุดดังกล่าว