โอไมครอน ลาม เจอเพิ่มเป็น 39 ประเทศ ตามคนจาก 8 ปท.เสี่ยง เหลืออีก 133 ราย

พบโควิด ‘โอมิครอน’ เพิ่มเป็น 39 ประเทศ ตามคนจาก 8 ประเทศเสี่ยงมาตรวจแล้ว 44 คน เหลืออีก 133 คน คลัสเตอร์ต่างๆ พบติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย

วันที่ 3 ธ.ค.64 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6.85 แสนราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 7,095 ราย

โดย 20 อันดับแรกที่ติดเชื้อสะสมสูงสุด มีติดเชื้อใหม่หลักหลายหมื่น อันดับหนึ่ง คือสหรัฐอเมริกา 1.32 แสนราย อังกฤษ 5.3 หมื่นกว่าราย รัสเซีย 3 หมื่นกว่าราย ตุรกี 2 หมื่นกว่าราย ฝรั่งเศส 4.8 หมื่นกว่าราย เยอรมนี 7.3 หมื่นราย ประเทศที่มีติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากคือ โปแลนด์ 2.7 หมื่นราย เนเธอร์แลนด์ 2.3 หมื่นกว่าราย

เจอ ‘โอมิครอน’ 39 ประเทศ

ส่วนประเทศที่พบเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน รวม 39 ประเทศ ที่รายงานพบเพิ่มเติม คือ กานา นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย

“ส่วนใหญ่เป็นการพบเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ พบเชื้อจากผู้เดินทางจากแอฟริกาใต้ เข้าไปในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซาอุดิอาระเบียมาจากแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาจากประเทศอาหรับ และรายงานว่าติดเชื้อโอไมครอนรายแรก โดย 39 ประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อคิดแล้วยังไม่ถึง 1% ของผู้ติดเชื้อในประเทศนั้นๆ แสดงว่า ยังไม่มีการระบาดของเชื้อโอไมครอนในประเทศด้วยกันเอง”

มาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนของไทย ประกาศตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ไม่มีการรับนักเดินทางจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. แต่ผู้มาจากแถบทวีปแอฟริกาใต้ที่เดินทางมาก่อนหน้านี้มีการติดตามและรายงานเป็นระยะ โดยกลุ่ม 8 ประเทศเสี่ยงที่เข้ามาระหว่างวันที่ 15-27 พ.ย. มีทั้งหมด 333 คน เข้าทางกทม.และภูเก็ต พบว่าออกจากประเทศไปแล้ว 61 คน กลุ่มครบ 14 วันไม่ต้องตัวแล้ว 105 คน และยังไม่ครบ 14 วัน หลังออกจากแซนด์บ็อกซ์หรือที่กักกัน 167 คน ต้องติดตามให้มาตรวจ RT-PCR ซ้ำ

ได้ส่งข้อความไปให้กลุ่มเหล่านี้ตรวจอย่างเร็วที่สุดในสถานพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวนนี้ตามแล้ว 44 คน ล่าสุดเข้ามา 50 คนแล้ว ที่เหลือ 133 คน ยังติดตามต่อเนื่อง ทั้งช่องทางส่งข้อความในอีเมลที่ลงทะเบียน Thailand Pass แอพพลิเคชันหมอชนะ เบอร์โทรศัพท์ที่ให้โรงแรมไว้

ขอให้ ททท.ช่วยติดตามให้โรงแรมที่เปิดรับนักเดินทางกลุ่มนี้แจ้งให้นักท่องเที่ยวให้ลงแอพพลิเคชันหมอชนะ เพื่อใช้ติดตามผลตรวจ PCR และอาการแต่ละวัน และนักเดินทางนำข้อความจากแอพฯ ไปใช้ตรวจ PCR ซ้ำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำจากประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา มี 453 คน ไม่ต้องตรวจ PCR ซ้ำ ยกเว้นต้องติดตามอาการตนเองใน 14 วันหลังออกจากการกักตัวหรือแซนด์บ็อกซ์ หากมีอาการค่อยไปตรวจติดตามอาการ

ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับ 24 ติดเชื้อใหม่ 4,912 ราย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง รักษาหาย 5,844 ราย จำนวนนี้มีผู้ยังรักษาอยู่ 72,761 ราย ผู้ป่วยหนัก 1,315 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 338 คน เสียชีวิต 33 คน โดยผู้เสียชีวิต 94% เป็นกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี และโรคเรื้อรัง

วันนี้รายงานปัจจัยเสี่ยงหลักติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด 21 คน จาก 33 คน ติดจากคนรู้จัก 16 ราย และครอบครัว 5 ราย มาตรการส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ทั้งในบ้านและที่ทำงาน ผลตรวจ ATK ทั่วประเทศลดลงชัดเจน อยู่ที่ 2.34% ขณะที่ผลตรวจ PCR อยู่ที่ 9.44% ซึ่งทั้ง 2 วิธีตรวจนี้มีแนวโน้มพบลดลงทั้งประเทศและทุกเขตสุขภาพ

10 จังหวัดติดเชื้อสูง

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 685 ราย อันดับ 2,3, 4, 5 และ 10 มาจากภาคใต้ แต่ละจังหวัดมีแนวโน้มลดลงชัดเจน จังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 ราย มีแค่ 10 จังหวัด หลักสิบมี 50 จังหวัด และหลักหน่วย 15 จังหวัด ไม่มีรายงานติดเชื้อเลย 2 จังหวัด คือ มุกดาหาร และนครพนม โดยนครพนมไม่มีรายงานติดเชื้อมาแล้ว 3 วัน

เมื่อดูตามคลัสเตอร์ยังพบในหลายๆ คลัสเตอร์ คือ 1.โรงงาน/สถานประกอบการ เชียงใหม่ นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ระยอง ปราจีนบุรี และกทม. 2.ตลาด แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร และตราด 3.แคมป์คนงาน ปราจีนบุรี เชียงใหม่

4.พิธีกรรมประเพณี งานศพนราธิวาส ขอนแก่น ยโสธร หนองคาย ซึ่งแม้จะยังเจอในคลัสเตอร์งานศพ แต่จากก่อนหน้านี้ที่มีเทศกาลลอยกระทงตอนนี้เข้าสัปดาห์ที่ 2 แล้ว จากระบบเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานติดเชื้อจากเทศกาลลอยกระทง 5.โรงเรียนสถานศึกษา ร้อยเอ็ด ยะลา ตราด และอุบลราชธานี 6.ค่ายทหาร สงขลา ลพบุรี และชลบุรี และ 7.ร้านอาหาร สถานบันเทิง อุบลราชธานี

ทุกคลัสเตอร์ที่รายงานเป็นคลัสเตอร์ที่พบหลักหน่วยหรือหลักสิบ คือ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 10 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงมาก แต่ขอให้เคร่งครัดภายใต้มาตรการความปลอดภัย สถานที่ต่างๆ ทำ COVID Free Setting หรือยกระดับเป็น SHA Plus จะได้กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกกิจการได้

จังหวัดพร้อมรับนักท่องเที่ยว

วันนี้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีจังหวัดที่เตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมประชุม กทม. เชียงใหม่ บุรีรัมย์ อุดรธานี หนองคาย และเลย ทุกจังหวัดเตรียมการเปิดกิจการกิจกรรมภายใต้มาตรฐาน SHA SHA+ COVID Free Setting และ Thai Stop COVID+ โดย กทม.มีกิจการที่ได้มาตรฐาน SHA+ เพิ่มขึ้น 1,804 แห่ง ,

เลย เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่เชียงคาน มีสถานประกอบการผ่านประเมินได้ SHA+ 82 แห่ง ขอเพิ่ม 68 แห่ง , เชียงใหม่ SHA+ ผ่าน 571 แห่ง SHA 1,695 แห่ง COVID Free Setting 436 แห่ง จาก 474 แห่ง , หนองคาย SHA+ 58 แห่ง จาก 102 แห่ง ทำ COVID Free Setting 55 แห่งผ่านทั้งหมด ,อุดรธานีผ่าน SHA+ 79 แห่ง และบุรีรัมย์ ผ่าน 130 แห่ง COVID Free Setting 48 แห่ง

การฉีดวัคซีนวันนี้เพิ่มขึ้น 527,092 โดส สะสม 94,280,248 โดส เป็นเข็มแรก 48.73 ล้านคน คิดเป็น 67.6% เข็มสอง 41.97 ล้านคน คิดเป็น 58.3% และเข็มสาม 3.56 ล้านคน คิดเป็น 5% โดยกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม สูงอายุ อสม. และนักเรียนนักศึกษา ฉีดได้เกิน 70% แล้ว ที่ต้องเพิ่มคือประชากรทั่วไป 65.1% และหญิงตั้งครรภ์ 19.2%

ส่วนระยะนี้มีวัคซีนเพียงพอ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อยากให้ฉีดกลุ่ม 607 เพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดที่ฉีดกลุ่ม 607 มากกว่า 80% มี 11 จังหวัด ครอบคลุม 70-79% มี 21 จังหวัด และ 45 จังหวัดยังต่ำกว่า 70% ซึ่ง 45 จังหวัดนี้มีจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวที่เปิดในระยะที่ 2 วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา คือ พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี สุรินทร์ กาญจนบุรี และขอนแก่น จะต้องเร่งรัดการฉีดกลุ่ม 607 ให้มากขึ้น ส่วนที่เปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะแรกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. มี 3 จังหวัดต้องเร่งรัดฉีดวัคซีน คือ เพชรบุรี ตราด และระยอง

“ช่วง ธ.ค.เข้าสู่เทศกาลท่องเที่ยว ทุกภาคของประเทศอยู่ในช่วงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และมีการท่องเที่ยวของคนไทย ทางกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการทุกประเภท เปิดกิจการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุข

ทั้ง SHA SHA+ COVID Free Setting และ Thai Stop COVID ขอให้ประชาชนเคร่งครัดป้องกันตนเองสูงสุด ไม่ว่าไปใช้บริการหรือท่องเที่ยวที่ไหน เป็นที่ทราบกันว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่เจอเชื้อโควิด มาตรการส่วนบุคคลป้องกันการติดเชื้อและลดแพร่ระบาดได้

ถ้าร่วมมือกันรับวัคซีนมากที่สุดและครบโดส จะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้เชื้อโรคดีขึ้น ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลา ถ้าทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามาตรการส่วนบุคคลและสังคมเคร่งครัด ธ.ค.นี้จะใช้ชีวิตวิถีใหม่ได้ราบรื่นและเป็นเทศกาลท่องเที่ยวอย่างดีและมีความสุขทุกท่าน” พญ.สุมนีกล่าว