อนามัยโลก เตือนหากหยุดโควิดเดลต้าไม่ได้ โลกก็ยั้งโอมิครอนไม่ได้เช่นกัน

องค์การอนามัยโลกเตือนว่าหากโลกไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ก็จะไม่สามารถหยุดสายพันธุ์โอไมครอนได้เช่นกัน

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 “เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า มีอย่างน้อย 23 ประเทศ จาก 5 ใน 6 ภูมิภาค ในพื้นที่การดำเนินงานของ WHO ที่มีรายงานการพบโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแล้ว และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีก

“การที่โอไมครอนได้รับความสนใจไปทั่วโลกเป็นสิ่งที่เข้าใจได้” เกเบรเยซุสกล่าวในในการแถลงข่าวผ่านเว็บไซต์ และว่า

“WHO ให้ความสำคัญกับการแพร่เชื้อของโอไมครอนอย่างจริงจัง และทุกประเทศก็ควรทำเช่นกัน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับเรา เพราะนี่คือสิ่งที่ไวรัสเป็น”

เขากล่าวด้วยว่า โอไมครอน ซึ่ง WHO กำหนดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล จะยังคงแพร่ระบาดต่อไป หากโลกยอมให้มันเกิดขึ้น

“เรากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโอไมครอนตลอดเวลา แต่ก็ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค และประสิทธิภาพในการตรวจหาเชื้อต่าง ๆ รวมถึงการรักษาและวัคซีน” เทดรอสกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า โลกต้องไม่ลืมว่าเราเคยเผชิญกับสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดได้สูงและเป็นอันตรายมาแล้วอย่างเดลตา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ทั่วโลก

“เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและปกป้องชีวิตผู้คนจากเดลตา และถ้าเราทำอย่างนั้น เราจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดและปกป้องชีวิตผู้คนจากโอไมครอนได้เช่นกัน” เทดรอสกล่าว

เขายังเตือนด้วยว่า หากในระดับประเทศและระดับบุคคลไม่ทำสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเดลตา “พวกเขาก็จะไม่สามารถหยุดโอไมครอนได้เช่นกัน”

กลุ่มคณะที่ปรึกษา WHO ได้ประชุมกันเพื่อประเมินหลักฐานและให้ความสำคัญกับการศึกษาที่จำเป็นเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังได้ขอบคุณบอตสวานาและแอฟริกาใต้อีกครั้งสำหรับการตรวจหาเชื้อ การเรียงลำดับเหตุการณ์ และการรายงานการพบสายพันธุ์นี้อย่างรวดเร็ว

เขากล่าวว่า “ผมกังวลอย่างสุดซึ้งที่ประเทศเหล่านี้กำลังถูกกล่าวโทษจากประเทศอื่น ๆ ทั้งที่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

ก่อนหน้านี้เทดรอสได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการที่สมเหตุสมผลและประเมินความเสี่ยง ให้สอดคล้องกับระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศ

“ซึ่งรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ในการชะลอหรือลดการแพร่เชื้อสายพันธุ์ใหม่ เช่น การคัดกรองผู้โดยสารก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึง หรือการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ”

เขาอธิบายว่า การห้ามเดินทางไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดข้ามประเทศของโอไมครอนได้ แต่กลับสร้างภาระให้กับการใช้ชีวิตและการดำรงชีพ