ทูตเผยยูเอ็นยังไม่รับรอง ‘ตาลิบัน-รัฐบาลทหารพม่า’ นั่งตัวแทนชาติสมาชิก

เมื่อวานนี้ (1 ธันวาคม) สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานจากแหล่งข่าวของทูตว่า ผลประชุมของคณะกรรมการรับรองสมาชิกขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ยังไม่น่าจะอนุญาตให้กลุ่มตอลิบันของอัฟกานิสถานหรือรัฐบาลทหารของพม่าเป็นตัวแทนของชาติสมาชิกของตัวเองในยูเอ็นในตอนนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการรับรองผู้แทนซึ่งมีสมาชิก 9 ชาติ รวมถึงรัสเซีย จีนและสหรัฐฯ ที่พิจารณาสถานะของชาติสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ สำหรับการประชุมสมัชชาใหญ่ในวาระปัจจุบันนั้น คณะกรรมการฯยังคงไม่ตัดสินใจรับรองสถานะชาติสมาชิกให้กับรัฐบาลตอลิบันของอัฟกานิสถานและรัฐบาลทหารของพม่าในฐานะตัวแทนชาติสมาชิก ด้วยความเข้าใจว่าทูตประจำยูเอ็นของทั้ง 2 ประเทศยังคงดำรงตำแหน่ง

โดยสถานะความเป็นผู้แทนของ 2 ชาตินั้น อย่างอัฟกานิสถานที่ตอนนี้อยู่ในการควบคุมของกลุ่มตอลิบัน กลุ่มศาสนาสุดโต่งที่กลับมามีอำนาจและโค่นรัฐบาลพลเรือนหลังกองทัพสหรัฐฯถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม ได้เสนอโฆษกกลุ่มตอลิบันประจำอยู่ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์อย่าง ซุฮาอิล ชาฮีน ให้เป็นทูตอัฟกานิสถานประจำยูเอ็น แต่ทูตอัฟกานิสถานประจำยูเอ็นคนปัจจุบันที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นอย่าง กูลัม อิแซกไซ ได้ขอที่จะดำรงตำแหน่งต่อ

ส่วนพม่านั้น รัฐบาลทหารพม่าได้ก่อการรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสถานการณ์ในพม่าบานปลายเป็นสงครามกลางเมืองไปแล้วนั้น มีความตั้งใจเสนอ ออง ทูเรน อดีตนายทหารมาเป็นทูตประจำยูเอ็นแทน จอ โม ตุน ทูตประจำยูเอ็นคนปัจจุบันที่แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยกลางที่ประชุมยูเอ็น ซึ่งจอ โม ตุน ได้ทำเรื่องขอดำรงตำแหน่งต่อ โดยความกังวลจะตกเป็นเป้าในแผนลอบสังหารหรือลอบทำร้ายจากรัฐบาลเผด็จการทหาร

อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า ความต้องการของกลุ่มตอลิบันที่จะเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกนั้น เป็นเพียงการใช้ประโยชน์จากประเทศอื่น ๆ เท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลตอลิบันถูกกดดันให้เคารพสิทธิโดยเฉพาะสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ กรณีพม่า คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เจอเนอร์ อดีตทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมาร์ซึ่งลาออกเมื่อเดือนที่แล้ว ได้เตือนว่าไม่มีประเทศใดควรยอมรับหรือรับรองรัฐบาลทหาร ขณะที่กูเตอร์เรสให้คำมั่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าจะระดมพลัง “เพื่อให้แน่ใจว่าการทำรัฐประหารจะล้มเหลว”