สภาป่วน! ส.ส.รัฐบาล ขวางญัตติปมขบวนเสด็จฯ ขึ้นพิจารณา “ก้าวไกล” ผิดหวัง

ก้าวไกลขอเลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯ ขึ้นมาพิจารณา แต่ตกลงกันไม่ได้ วิปรัฐบาลเสนอลงมติขานชื่อ ชลน่าน ซัดทำสภาเสียเวลา สุดท้าย 246 เสียงไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติ ‘ก้าวไกล’ ผิดหวัง ‘สภา’ ไม่ให้ความสำคัญ ย้ำ เป็น 1 ปี รอคอยพิสูจน์ความจริง 

วันที่ 1 ธ.ค.2564 เมื่อเวลา 10.30 น.  ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ทำหนาที่เป็นประธานการประชุม ภายหลังเปิดให้หารือปัญหาความเดือดร้อนแล้ว

น.ส.วรรณวลี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ขอเสนอญัตติด้วยวาจา ขอเลื่อนวาระการประชุมในวันที่ 2 ธ.ค. ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยให้สภาพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จและการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 หลังจากลงมติ ญัตติการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเม้นคอมเพล็กซ์) และก่อนเรื่องรับทราบรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ทำให้นายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล อภิปรายว่า จากที่สมาชิกขอเปลี่ยนระเบียบวาระวันที่ 2 ธ.ค. ถ้าย้อนกลับไปสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องนี้เราพิจารณากันจบแล้ว คือการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องเอ็นเตอร์เทนเม้นคอมเพล็กซ์ ดังนั้น ตนไม่เห็นด้วยจะให้เลื่อนญัตติแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จและการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระราชินี มาพิจารณา และเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

ด้านนายชวน ชี้แจงว่า การประชุมสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนคอมเพล็กซ์ ซึ่งยังไม่ได้ลงมติ อภิปรายจบแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุป ฉะนั้นกรณีดังกล่าว เมื่อสรุปแล้วถือว่าจบเรื่อง วันนี้ก็เลื่อนเรื่องอื่นเข้ามาได้ แต่ต้องจบเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนคอมเพล็กซ์ก่อน ดังนั้น ขอให้ผู้ควบคุมเสียงทั้ง 2 ฝ่ายไปหารือกันว่าจะเลื่อนเรื่องอะไรขึ้นมาเพราะเจรจากันได้

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทักท้วงว่า เป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะเป็นการประชุมปกติและประธานได้บรรจุญัตติไว้แล้ว ควรดำเนินการตามวาระ ไม่ใช่สิทธิที่จะบอกไม่ให้พิจารณาเรื่องนี้ ทำให้นายชวน ขอให้วิปทั้งสองฝ่ายไปหารือให้เรียบร้อยก่อน เพราะปกติจะไม่มีปัญหาเรื่องแบบนี้ นายอรรถกร จึงขอให้พักการประชุม 15 นาที เพื่อไปหารือกับวิปฝ่ายค้าน แต่นายชวน ได้สั่งพักการประชุม 10 นาที

จากนั้นเวลา 10.50 น. กลับมาประชุมอีกครั้ง โดยน.ส.วรรณวลี ยืนยันเหตุผลให้เลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะหากสภาไม่นำญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณา จะทำให้ญัตติด่วนอื่น เช่น ญัตติการตรวจสอบการสลายการชุมนุม ญัตติการตรวจสอบการใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมกับผู้ต้องขังทางการเมืองจะไม่ได้รับการพิจารณา

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเลื่อนระเบียบวาระ ต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายค้านควรยอมรับกลไกของสภาและไปหารือกันก่อน และสมาชิกทุกคนให้ความสำคัญกับทุกระเบียบวาระอยู่แล้ว จึงขอให้ดำเนินการตามระเบียบวาระ
จากนั้นนายชวน ได้ขอมติที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยให้มีการเปลี่ยนระเบียบวาระหรือไม่ แต่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เสนอให้ที่ประชุมลงคะแนนแบบเปิดเผยด้วยการขานชื่อ

นายชวน จึงขอมติที่ประชุมว่าจะเห็นชอบให้ลงมติแบบขานชื่อหรือไม่ ผลปรากฎว่า ที่ประชุมเห็นด้วยให้ลงมติด้วยการขานชื่อ 219 ต่อ 49 คะแนน งดออกเสียง 15 ไม่ลงคะแนน 3 จากนั้นจึงลงมติด้วยการขานชื่อ

ทั้งนี้ก่อนประกาศผล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนขอใช้สิทธิไม่ออกเสียง เนื่อจากเห็นว่าวิธีการที่ใช้ เป็นการรบกวนสภาโดยไม่จำเป็น แต่นายชวน ได้ตัดบท ไม่ให้อภิปรายต่อ เพราะอยู่ระหว่างการรวบรวมคะแนน ผลปรากฎว่า ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติขบวนเสด็จฯ ขึ้นมาพิจารณา 246 เสียง เห็นด้วย 45 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่) พ.ศ….จำนวน 7 ฉบับ

ดับโอกาส 1 ปี รอพิสูจน์ความจริง 

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 25 บางขุนเทียน, สุทธวรรณ สุบรรณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม เขต 3 ในฐานะผู้เสนอญัตติด่วนขอให้สภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 (ญัตติด่วนขบวนเสด็จ) และ วรรณวรี ในฐานะผู้เสนอเลื่อนญัตติขึ้นมาพิจารณาในวันที่ 2 ธ.ค. 64

เมื่อจบการพิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) เนื่องจากญัตติดังกล่าวได้เลื่อนขึ้นมาแทรก ‘ญัตติด่วนขบวนเสด็จ’ ที่มีคิวพิจารณาในวันที่ 25 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เลื่อนญัตติขบวนเสด็จกลับเข้ามาพิจารณาก่อนด้วยจำนวน 246 ต่อ 45 และงดออกเสียง 6 เสียง
.
ณัฐชา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลรู้สึกผิดหวังต่อผลการลงมติที่เกิดขึ้น ญัตติดังกล่าว เป็นญัตติที่ พลตำรวจตรีสุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เเละ สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา เป็นผู้เสนอญัติด่วน ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 ต.ค. 63 เป็นเวลากว่า1 ปีเต็มที่เรารอคอย ที่จะพิสูจน์ความจริงกรณีที่กระทบจิตใจประชาชน จากกรณีที่เกิดขึ้นในการถวายอารักขาเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ซึ่งมีประชาชนถูกกฎหมายมาตรา 110 เอาผิดถึงขั้นประหารชีวิต เราจึงมีความเสียใจอย่างมากที่สภาไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
.
“พรรคก้าวไกลต้องการให้นำความจริงขึ้นมาเปิดเผยต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ยื่นญัตติด่วนต่อสภาผู้แทนราษฎร เเละประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุเป็นญัติด่วนในวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นญัตติด่วนลำดับที่ 1 ที่จะมีการพิจารณา แต่สัปดาห์ก่อนมีการเสนอนำเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพลกขึ้นมาพิจาณาแทนญัตตินี้ เราก็พยายามต่อสู้ แต่ฝ่ายรัฐบาลได้เตะถ่วงในการเสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ

โดยในวันนี้ ทาง ส.ส.วรรณวรี ได้เสนอให้เลื่อนญัติด่วนขบวนเสด็จกลับขึ้นมาพิจารณา ปรากฎว่า สภาผู้แทนราษฎร ยังยืนยันไม่เลื่อนญัตติในการหาข้อเท็จจริงกรณีขบวนเสด็จขึ้นมาพิจารณาภายใต้กลไกของกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เราเสียใจที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้โหวตขานชื่ออีกครั้ง เนื่องจากไม่ตรงกับเจตนารมณ์ข้อบังคับของสภา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแทรกระเบียบวาระที่เรารอมากว่า 1 ปี เเละในวันนี้ผลโหวตที่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติกลับมาพิจารณามีเพียง 45 เสียงเท่านั้น เราเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะผู้แทนราษฎรที่อาสาเข้ามาทำงานเเทนพี่น้องประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เราจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล และพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่กระทบต่อโครงสร้างการบริหารประเทศ”
.
ณัฐชา ย้ำต่อไปว่า พี่น้องประชาชนยังรอคอยที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเส้นทางขบวนเสด็จวันนั้น พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าจะเดินหน้าตรวจสอบต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าญัตตินี้ ยังคงเป็นญัติด่วนที่เราจะต่อสู้เพื่อให้นำเรื่องนี้เข้าสู่กลไกของกรรมาธิการ เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่คณะรัฐมนตรี ทุกฝ่ายจะมีโอกาสเข้ามาพูดคุย หารือกันในพื้นที่ปลอดภัยของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อค้นหาความจริงและมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย