“แนวร่วมธรรมศาสตร์-วีโว่” หอบหลักฐานปมจนท.สลายชุมนุม 14 พ.ย. ยื่นกมธ. สอบตร.

“แนวร่วมธรรมศาสตร์-วีโว่” หอบหลักฐานปมจนท.สลายชุมนุม ม็อบ 14 พ.ย. ยื่นกมธ.พัฒนาการเมือง สอบ ตำรวจอาจดัดแปลงอาวุธปืน ด้าน “ปดิพัทธ์” ลั่น “ก้าวไกล” จะทำสภาฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัย-พูดคุยกันได้

วันที่ 1ธันวาคม 2564 เมื่อเวลา 10.15 น. ที่รัฐสภา นายวชิรกรณ์ วิภาศรีนิมิต ตัวแทนจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร ตัวแทนกลุ่มวีโว่ และนายเสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ ยื่นหนังสือและหลักฐานกรณีปราบปรามการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน บริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ต่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดยนายวชิรกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีกรณีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ มีผู้ชุมนุมถูกยิงโดยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด เป็นการยิงที่สร้างความเสียหายรุนแรง ปกติหากยิงด้วยกระสุนยางจะเกิดเพียงแผลฟกซ้ำ แต่กรณีที่เกิดขึ้นกระสุนยางเจาะทะลุผิวหนังเข้าไปฝังอยู่ในผิวหนังของผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการดัดแปลงอาวุธปืนให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากภาพว่าอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่มีสะเก็ดไฟออกมามากกว่าปกติ

ด้านนายรัฐภูมิ กล่าวว่า กลุ่มแนวร่วมมธ.และกลุ่มวีโว่จึงอยากให้กมธ.ตรวจสอบว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ได้ดัดแปลงอาวุธหรือดัดแปลงหัวกระสุนให้มีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ความจริงในวันนั้นเจ้าหน้าที่มีเวลาและสามารถเจรจากับผู้ชุมนุมได้ เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการอยู่โรงพยาบาลตำรวจไม่เจรจากับเรา ทำไมถึงเลือกใช้กำลัง และจากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แถลงการณ์ว่าจุดดังกล่าวมีเสียงดังจากการจุดประทัดขึ้นมาก่อนนั้น ตนคิดว่าต้องมาดูข้อเท็จจริงกันอีกครั้งหนึ่ง คือข้อเท็จจริงของเขากับข้อเท็จจริงของเรา ตนเชื่อว่าประชาชนสามารถดูได้ว่าข้อเท็จจริงของใครน่าเชื่อถือกว่ากัน

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า กรณีแรกที่ กมธ.พัฒนาการเมือง ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ คือ การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่มีการยิงเยาวชนที่หน้าสน.ดินแดง ซึ่งเรารวบรวมหลักฐานได้ใช้กล้องวงจรปิดกว่า 54 ตัวและพยานแวดล้อม และเห็นว่าหลักฐานที่คณะกรรมการตรวจสอบได้กับหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐมีความแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งความรับผิดชอบจากกรณีดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น และเยาวชนก็เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้ เมื่อมีการสลายการชุมนุมจะมีข้อมูล 2 ชุด คือ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐและข้อมูลจากผู้ชุมนุม คณะกรรมการก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานทั้งหมด ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจบริสุทธิ์ใจต้องเอาหลักฐานของตัวเองมาแสดงด้วย ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือน้อยมาก และมีการอ้างอยู่เสมอว่าปฏิบัติตามหลักสากล โดยวันนี้เราได้เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) มาชี้แจงต่อกมธ. ซึ่งเราพยายามที่จะพูดคุยว่าแนวทางควรจะเป็นอย่างไร แต่ได้รับความร่วมมือน้อยมาก เช่น กรณีที่มีการจับกุมนักข่าวเมื่อปีที่แล้ว กว่าที่จะเชิญมาได้ต้องใช้เวลาถึง 6 ครั้ง

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เราจะเดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลตำรวจอยู่ ขณะเดียวกัน ถ้าการชุมนุมโดยสันติ การนำเสนอข่าวอย่างเสรียังเป็นไปไม่ได้ เราก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการโดนคุกคามทั้งคดีความที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง สื่อมวลที่โดนริดรอนสิทธิเสรีภาพ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งนอกจากกมธ.พัฒนาการเมืองจะดำเนินการตรวจสอบกรณีนี้แล้ว พรรคก้าวไกลก็จะดำเนินการในสภาด้วยที่จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันสามารถเป็นไปได้