ชี้โควิดโอมิครอนคือ ‘กรรมตามสนอง’ จากจัดสรรวัคซีนไม่เท่าเทียม

การปรากฏขึ้นของโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน และความสิ้นหวังที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ความพยายามในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่หมัดสลายหายไป สะท้อนถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนมาก่อนหน้านี้หลายเดือน ว่าไวรัสโคโรนาจะยิ่งปรับตัวให้แข็งแกร่งมากขึ้น ตราบใดที่ผู้คนส่วนใหญ่ของโลกยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด

นักวิทยาศาสตร์และองค์การอนามัยโลกเคยเตือนมาแล้วหลายครั้งว่า การกักตุนวัคซีนของประเทศร่ำรวยซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัคซีนในประเทศยากจนจำนวนมาก ไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อพื้นที่ซึ่งขาดแคลนวัคซีนในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นความเสี่ยงต่อโลกทั้งหมดด้วย เนื่องจากไวรัสจะยิ่งแพร่ระบาดไปในหมู่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะเพิ่มความเป็นไปได้ที่มันจะกลายพันธุ์จนกลายเป็นไวรัสที่มีความอันตรายมากกว่า และทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดยาวออกไป

ดร.ริชาร์ด แฮทเชทต์ ซีอีโอของ CEPI ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ทำงานสนับสนุนโครงการเพื่อความเท่าเทียมทางวัคซีนโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ไวรัสชนิดนี้เป็นนักฉวยโอกาสที่ไร้ความเมตตา และความไม่เท่าเทียม ซึ่งสะท้อนการจัดการกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็ได้กลายเป็นกรรมตามสนองให้เราเห็นกันในเวลานี้

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพื้นที่ที่มีความไม่เท่าเทียมทางวัคซีนมากที่สุดคือทวีปแอฟริกา ซึ่งมีประชาชนเพียงไม่ถึง 7% ของประชากรทั้งทวีปได้รับวัคซีนแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ของอเมริกาใต้ได้แจ้งเตือนองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิจัยกำลังเร่งศึกษาว่าไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนนี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากขึ้นเท่าใด รวมถึงสามารถหลบหลีกวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ด้วยหรือไม่

โครงการโคแวกซ์ได้ตั้งเป้าที่จะกระจายวัคซีน 1.4 พันล้านโดส ให้กับประเทศที่ยากจนภายในสิ้นปี 2021 นั่นหมายความว่า ต้องมีการกระจายวัคซีนราว 25 ล้านโดสต่อวัน ไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงมีการจัดส่งวัคซีนเพียงแค่ราว 4 ล้านโดสต่อวัน ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเท่านั้น ขณะที่ในบางวันปริมาณการส่งมอบวัคซีนต่ำกว่า 1 ล้านโดสเสียด้วยซ้ำ แม้จะมีการจัดส่งวัคซีนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาแต่ก็ยังห่างไกลจากปริมาณที่ต้องการมากนัก

ขณะที่ประเทศที่ร่ำรวย ประชากรส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังมีประเทศจำนวนมากที่ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชน ซึ่งองค์การอนามัยโลกไม่สนับสนุนให้ทำเช่นนั้นเพราะเห็นว่าควรจะนำวัคซีนไปมอบให้กับประเทศที่ยังมีผู้ไม่ได้รับแม้แต่วัคซีนเข็มแรกมากกว่า

แม้องค์การอนามัยโลกจะร้องขอให้ประเทศต่างๆ งดเว้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ขณะนี้มีมากกว่า 60 ประเทศที่เปิดฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชน ซึ่งความไม่เท่าเทียมดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับทุกคน ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนไปทั่วโลกอย่างเหมาะสม