เผยแพร่ |
---|
เส้นด้ายเชียงใหม่ ชี้การจัดการผู้ติดเชื้อ กรณีซับซ้อน ยังมีช่องโหว่ ชี้ทุกฝ่ายทำเต็มที่ด้วยกำลังจำกัด วอนผู้มีอำนาจเตรียมความพร้อม
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นางสาว เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู หรือพลอย ตัวแทนกลุ่มเส้นด้าย ได้แสดงความเห็น จากการที่ร่วมทำการตรวจเชิงรุกชุมชน แก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ร่วมกับ หน่วยงานราชการ และ เทศบาลท้องถิ่น ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จนปัจจุบัน
เพชรรัตน์ กล่าวว่า แม้จังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นเมืองใหญ่ ความพร้อมด้านต่างๆ มีมากกว่าหลายแห่ง รวมถึงเป็นเป้าหมาย สัญลักษณ์การเปิดประเทศ การทำงานตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกหน่วยงาน ทำอย่างเต็มที่ แต่ยังมีช่องว่าง สำหรับกรณีซับซ้อน เกิดอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ เด็ก คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคเสี่ยง ล่าสุด มีครอบครัว ชาติพันธุ์ 5 ชีวิต พ่อ แม่ และ ลูกเล็ก 3 คน ซึ่งมาที่จุดตรวจเชิงรุกเส้นด้าย
ผลที่ได้คือ พ่อ แม่ พบเชื้อ แต่เด็ก 3 คนยังไม่พบเชื้อ รวมถึงไม่มีอาการ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการจัดการ และ สภาพครอบครัว ทำให้ไม่สามารถแยก เด็ก ทั้ง 3 คน ออกจาก พ่อ แม่ได้ ทันที่
ที่สำคัญคือ ทั้งหมด ได้กลับไปอาศัยรวมในห้องเช่า ร่วมกันอีก 1 วัน ทางกลุ่มเส้นด้าย พยายามประสาน หาที่แยกตัว รวมถึงการจัดการดูแล ไปยัง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดรองรับกรณีดังกล่าวได้ แตกต่างจาก กรุงเทพ ที่เคยเจอปัญหา ลักษณะนี้ จนเตรียมการจัดการรองรับได้แล้ว
จากการเฝ้าติดตามความคืบหน้ากรณีนี้ พบว่า ถัดมา 1 วัน หลังจากตรวจพบเชื้อ พ่อ แม่ โดยกลุ่มเส้นด้าย ทั้งครอบครัว 5 คน ถูกส่งตัวไปตรวจซ้ำละเอียดที่โรงพยาบาลประจำอำเภออีกครั้ง ผลปรากฎว่า ผู้เป็นแม่เชื้อลงปอด ต้องส่งต่อไปรักษาอย่างเร่งด่วน โดยที่เหลือ อีก 4 คน คือ พ่อและเด็ก อีก 3 คน ยังคงรอร่วมกันในจุดพักรอ ของโรงพยาบาล เป็นเวลานาน เพื่อจะไปอยู่ในห้องรวม ครอบครัว
“จากการสอบถามผู้ป่วย พบว่า ฝ่ายพ่อ ก็ยืนยันว่า ไม่พร้อมจะให้แยกเด็กออกจากตัวเอง เนื่องจากไม่อยากให้ลูกๆ ที่ยังเล็กต้องห่างสายตา เป็นเวลานาน พร้อมจะอยู่ร่วมกันในโรงพยาบาล แม้จะทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อไปสู่เด็กๆ อีก 3 คน พลอย ยืนยันว่า กรณีนี้ เนื่องจากไม่มีทางเลือก ในระบบจัดการ เส้นด้าย เชียงใหม่ จึงทำได้แต่เพียง คอยเฝ้าติดตาม อาการความคืบหน้า อีกทาง แม้ทั้งหมดจะอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลแล้วก็ตาม” เพชรรัตน์ กล่าว
สำหรับภาพรวม สถานการณ์โควิด-19 ในเชียงใหม่ เพชรรัตน์กล่าวว่า ยังจะไม่หายขาด แต่จะยังอยู่ เป็นโรคประจำถิ่น การทำงานกลุ่มเส้นด้ายเชียงใหม่ ยังคงต้องทำต่อเนื่องไปอีกระยะ รวมถึงต้องขยายแนวร่วม อาสาภาคประชาสังคมให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายคือ ประชาชนต้อง ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด หรือ อย่างน้อย ต้องฝึกคนให้สามารถดูแล คนใกล้ชิดรอบตัวให้ได้มากกว่านี้ ดังที่ เส้นด้ายเชียงใหม่ ได้จัดอบรมอาสานักรบเส้นด้ายเชียงใหม่ ที่ห้างวันนิมมาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากเกิดการระบาดระลอกใหม่หรือเชื้อกลายพันธุ์ ตามที่เป็นข่าวระบาดมาถึง ทุกฝ่ายจะได้มีความพร้อมในการรับมือมากกว่านี้
ทั้งนี้ เพชรรัตน์ ยืนยันกว่า การพูดถึงกรณี ซับซ้อน ที่ยกตัวอย่าง ไม่ได้มองว่าเป็นความบกพร่องของฝ่ายไหน การทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่มีกำลังจำกัด แต่ก็ทำอย่างเต็มที่ทุกคน หากแต่อยากจะเป็นเสียงไปยังผู้ที่มีอำนาจจัดการระบบ ในระดับสูง หันมาเตรียมความพร้อมในเรื่องลักษณะนี้ด้วย ซึ่งเชื่อว่า จะทยอยมีเพิ่มมาอีกในไม่ช้านี้
ขอบคุณภาพจาก เส้นด้าย