“ธนาธร” ชี้ ทรัพย์ดิจิทัล-เงินคริปโต คือเทรนด์อนาคต แนะรัฐศึกษาก่อนออกกฎคุม

“ธนาธร” ชี้ ทรัพย์ดิจิทัล-เงินคริปโต คืออนาคต – แนะรัฐทำโครงการนำร่องศึกษาก่อนออกกฎคุม

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรวงเสวนา “โอกาสของประเทศไทยในสังเวียน Digital Asset” ภายในงาน Blockchain Thailand Genesis 2021 : The era of Metaverse and Digital Asset ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม Blockchain Thailand พูดคุยถึงโอกาส อุปสรรค และความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ อย่างสินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงิน crypto

ติงภาครัฐมุ่งกำกับ-รีดภาษี ไม่คำนึงการเติบโต ทำอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยตามโลกไม่ทัน

ในช่วงต้น นายธนาธรระบุว่าสำหรับตนแล้ว เรากำลังอยู่ในยุคที่น่าตื่นเต้นทางเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนเราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะพาเราไปถึงจุดไหน แต่เรารู้ว่ามันมีศักยภาพที่อาจจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของการเงินการธนาคาร และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราได้
.
นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ในสมัยหนึ่ง เหรียญ ธนบัตร หรือตู้กดเอทีเอ็มก็เคยเป็นนวัตกรรมทางการเงิน แต่ทั้งหมดล้วนสร้างอยู่บนโครงสร้างและระบบธนาคารเดิม
.
แต่กรณีการเกิดขึ้นของ metaverse ไม่ได้ตั้งอยู่บนระบบการเงินเดิม การซื้อขายกันด้วยระบบเหรียญที่เป็นคริปโต ที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบธนาคารเลย แต่เป็นระบบการเงินในโลกเสมือนที่กำลังจะย้อนกลับเข้ามาในโลกชีวิตจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
ดังนั้น มันอาจจะมีมันมีศักยภาพที่จะ disrupt โครงสร้างพื้นฐานเดิมของการเงินทั้งในระดับชาติและในระดับโลกด้วย
.
นายธนาธรกล่าวต่อไป ว่าอย่างไรก็ตามเมื่อมาดูที่บทบาทของภาครัฐ จะเห็นว่าเต็มไปด้วยความพยายามเข้าไปกำกับดูแลหรือตั้งกฎควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งตนมองว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ หากเราไปตั้งกฎควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงตั้งใจจะรีดภาษีจากธุรกิจนี้ตั้งแต่วันนี้ ธุรกิจนี้จะไม่เติบโตไปไหน แล้วเราจะตามหลังในการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ทันโลกและประเทศเพื่อนบ้าน
.
สำหรับตนแล้ว คิดว่าบทบาทของภาครัฐควรต้องมีสมดุล แม้ตนจะเข้าใจภาครัฐในแง่หนึ่ง ว่าต้องการปกป้องนักลงทุนที่จะโดนโกงจากมิจฉาชีพ หรือการผิดนัดชำระเงินในระบบ แต่วิธีก็คือรัฐต้องไปจับโจร หรือการส่งเสริมระบบป้องกัน เช่น การสนับสนุนให้เอกชนออก crypto insurance ไม่ใช่การไปปิดตลาด
.
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐควรที่จะทำคือการสนับสนุนอุตสาหกรรมให้ไปรอดได้ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดได้จริง คือการทำให้สินทรัพย์ที่อยู่ในโลกเสมือน ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงมากขึ้น
.
เช่น การจ่ายภาษีด้วย cryptocurrency จูงใจให้คนจ่ายภาษีด้วย crypto ด้วยการลดหย่อยภาษี โดยเริ่มจากภาษีตัวเล็กที่ไม่มีผลกระทบมากก่อน หรือการจ่ายค่าธรรมเนียมภาครัฐต่าง ๆ ด้วย cryptocurrency ทั้ง cryptocurrency ระดับโลกและที่ริเริ่มจากคนไทย นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้

แนะรัฐออกสกุลเงินดิจิทัล-ทำโครงการนำร่องศึกษาก่อนออกกฎ – ติงขยับช้าไปแล้ว-ไม่สอดคล้องกับโลก

นายธนาธรกล่าวต่อไป ว่าอีกประการหนึ่งที่ตนคิดว่ารัฐไทยต้องเร่งทำ ก็คือธนาคารกลางสำหรับสกุลเงินดิจิทัล ทำออกมาเป็นโครงการนำร่อง ออก e-baht มาเป็นสกุลเงินใหม่ ซึ่งอ้างอิงกับเงินบาทไทย ขายไปให้ธนาคารพาณิชย์ แล้วให้ธนาคารพาณิชย์ขายต่อให้กับลูกค้า สร้างระบบขึ้นมาว่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง หลังจากนั้นก็ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ศึกษาผลกระทบทางการเงิน และทางสังคม-เศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไรบ้าง
.
ครั้งแรกอาจจะเริ่มจากวงเงิน 100-200 ล้านบาท แล้วศึกษาระบบนิเวศของมัน ยิ่งศึกษาเร็วเท่าไหร่เราจะยิ่งออกกฎได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น
.
“ไม่ใช่ออกกฎก่อนแล้วทำโครงการนำร่องทีหลัง ซึ่งโครงการนำร่องอย่างนี้ควรจะออกมาตั้งนานแล้ว ใช่อยู่ว่าคุณกำลังทำ แต่มันช้าไปแล้ว แถมยังออกกฎมาก่อนแล้วค่อยมาศึกษา สำหรับผมกระบวนการมันควรกลับกัน สิ่งที่ควรจะทำก่อนก็คือคุณต้องออกสกุลเงินดิจิทัลในจำนวนเล็ก ให้ใช้ในกิจกรรมที่มีวงจำกัดก่อน แล้วคุณค่อยเอาผลการศึกษามาดู” นายธนาธรกล่าว

หลักสูตรความรู้การเงินในโรงเรียนยังล้าหลัง-ไม่ตอบโจทย์โลกสมัยใหม่

นายธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าก่อนมาออกรายการนี้ สิ่งหนึ่งที่ตนสงสัยมาก คือเราสอนความรู้ด้านการเงินให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเราอย่างไรบ้าง จึงให้ทีมงานไปที่ศึกษาภัณฑ์ซื้อหนังสือเรียนชั้นมัธยมปลายมาดู
.
ซึ่งเมื่อได้เปิดดูแล้ว ตนพบว่าทุกเล่มไม่มีสอนเรื่องที่เป็นพื้นฐานเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุน-การออม จะเกษียณอย่างไรให้มีเงินเพียงพอใช้ จะลงทุนอย่างไร การออมมีกี่รูปแบบ ตลาดหุ้นคืออะไร ทรัพย์สินที่ลงทุนได้มีอะไรบ้าง ลงทุนในที่ดินผลตอบแทนเป็นอย่างไร กองทุนเป็นอย่างไร ตลาดหุ้นเป็นอย่างไร สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างไร ฯลฯ
.
เนื้อหาอย่างมากที่สุด มีเพียงแต่การสอนในเรื่องของสหกรณ์ เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ไม่ตอบโจทย์กับโลกใบใหม่ที่สินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเติบโต
.
“เด็กควรได้เรียนเรื่องเงินฝาก ต้องคำนวณดอกเบี้ยได้ เช่น ปีหนึ่งฝากเงินกับธนาคาร ดอกเบี้ยคงที่ปีละ 5% ผ่านไปสามปีเงินจะกลายเป็นเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น เด็ก ๆ ต้องคิดเป็นว่าผลตอบแทนคืออะไร ซึ่งนี่คือ A Level ในต่างประเทศ ที่เขาสอนให้เด็กทุกคนต้องคิดเรื่องพวกนี้เป็น ซึ่งต่างกับสิ่งที่อยู่ในแบบเรียนของเมืองไทยโดยสิ้นเชิง ดังนั้น คุณจะพูดได้อย่างไรว่าคุณอยากจะสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเราตามโลก ตามโลกาภิวัฒน์ได้ทัน ตราบใดที่การเรียนการสอนคุณยังล้าหลังแบบนี้?” นายธนาธรกล่าว