ก.แรงงาน จับมือ ILO เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่าในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจ้างงานในประเทศไทย หลักสูตร “การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างและหลังการระบาด ของ COVID-19” ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ ห้องประชุมมารีน่า แกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมโนโวเทลมารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมี มิสเตอร์แกรม บัคลี่ย์ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนักวิจัยและนักวิชาการ และผู้แทนลูกจ้างเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยนายสุรชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างรุนแรง ทั้งภาคธุรกิจอุสาหกรรมการผลิต การบริการ การท่องเที่ยว รวมถึงภาคเกษตรกรรม นายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน เช่น วิธีการทำงาน การบริการที่มีการปรับเปลี่ยนไป หรือการทำงานนอกสถานที่ทำงาน การทำงานจากที่บ้าน การซื้อขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีในการทำงาน การประชุมออนไลน์ เป็นต้น กระทรวงแรงงานภายใต้การนำของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหารจัดการแรงงานของประเทศ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เล็งเห็นถึงประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อเจรจาหารือกัน ให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการส่งเสริมการจ้างงานที่ดี ที่จะร่วมกันเรียนรู้การเปลี่ยนของตลาดแรงงาน ความต้องการของแรงงานในกลุ่มอายุต่าง ๆ รวมทั้งเยาวชนและผู้สูงอายุ ปัญหาความท้าทายและอุปสรรคในการจ้างงาน และมีความเหมาะสมของแรงงานในแต่ละกลุ่ม ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานและตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ท้าทาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและสอดคล้องกับแรงงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จะต้องให้ความสำคัญและมีการวางแผน
การดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนให้มีการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง และประชากรเฉพาะกลุ่ม การปรับตัวของแรงงานทั้งในและนอกระบบของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน
ทั้ง Up-Skill และ Re-Skill ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบริการที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ การคุ้มครองแรงงานเพื่อส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าเพื่อให้แรงงานได้รับโอกาส
ในการจ้างและมีความมั่นคงในชีวิตตลอดจนมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง
“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ผมมาเปิดการประชุมในวันนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ต้องขอขอบคุณ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนักวิจัยและนักวิชาการ และผู้แทนลูกจ้าง ที่ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ อย่างยิ่งต่อการพัฒนาแรงงานของประเทศ และหวังว่าผลการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงาน ด้านการจ้างงานที่มาจากความเห็นของทุกภาคส่วน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปขับเคลื่อนในการพัฒนาแรงงานของประเทศต่อไป” นายสุรชัย กล่าวในท้ายสุด