‘หมอระวี’ เผย ‘พรรคเล็ก’ รวมตัว จ่อเสนอ กม.ลูกใช้ระบบ mmp – มี ส.ส.พึงมี

‘หมอระวี’ เผย ‘พรรคเล็ก’ รวมตัว จ่อเสนอ กม.ลูกใช้ระบบ mmp -มี ส.ส.พึงมี ชี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศได้ แต่ ส.ส.เขต ควรมีหลายเลขแต่ละพื้นที่

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ แถลงข่าวภายหลังการผลหารือของกลุ่มพรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง เกี่ยวกับการเสนอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า หลักการที่พรรคเล็กเห็นชอบร่วมกันในพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ คือ ต้องยึดหลักคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และการคำนวนคะแนนบัญชีรายชื่อต้องไม่มีขั้นต่ำ เช่น หากมีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 350,000-370,000 ต่อ 1 ส.ส. อาจทำให้หากได้ 340,000 คะแนน เสียงของประชาชนก็จะตกน้ำทั้งหมด

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พรรคเล็กยังเห็นพร้อมกันว่า ในการเลือกตั้งทุกพรรคสามารถส่ง ส.ส.เขตเพียงเขตเดียวทั้งประเทศ ก็จะสามารถส่งบัญชีรายชื่อได้เลย  นอกจากนี้หลักการ ส.ส.พึงมี เราเสนอให้เอาคะแนนรวมของบัตรเลือกตั้งที่ 2 หารด้วย 500 หรือเอาคะแนนรวมบัญชีรายชื่อบวกกับคะแนนรวม ส.ส.เขตทั่วประเทศหารด้วย 500 ตัวเลขก็จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 คะแนน หรือ 140,000 คะแนนต่อ 1 ส.ส.

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนของการสมัคร ส.ส.นั้น พรรคเล็กเสนอว่าส.ส.บัญชีรายชื่อสามารถใช้เบอร์เดียวกันได้ทั่วประเทศ แต่ ส.ส.เขตควรเป็นไปตามหมายเลขของแต่ละพื้นที่ มีการจับฉลากตามขั้นตอนปกติ และค่าสมัคร ส.ส.เราขอลดลงเหลือเพียง 3000-5000 บาท ทั้งนี้ เห็นควรให้ยกเลิกตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขต และยกเลิกไพรมารีโหวต ส่วนหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่น ทั้งนี้ ขอยกเลิกการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคคนละ 100 บาท เนื่องจากถือเป็นภาระพรรคการเมืองที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกให้ประชาชน ซึ่งทุกพรรคทำเหมือนกันหมด หากพรรคใดไม่ได้ทำให้ออกมาเถียงได้เลย รวมทั้งควรยกเลิกทุกมาตราที่เกี่ยวกับการปรับพรรคการเมือง เพราะข้อกฎหมายเหล่านี้ ทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองเท้าข้างหนึ่งก้าวเข้าไปอยู่ในคุก จากกฎกติกาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า การประชุมวันนี้ได้มี นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เข้าร่วมประชุมด้วย โดยนายโกวิทย์ได้รับฟังข้อเสนอและจะนำความเห็นนี้ไปยื่นเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีประเด็นใดที่เหมือนกันกับร่างของรัฐบาลก็จะร่วมด้วย แต่ประเด็นใดที่เห็นต่างก็ไปว่ากันในสภาฯว่าจะโหวตไปในทิศทางใด