ไทยเซ็นซื้อ ‘โมลนูพิราเวียร์’ 5 หมื่นคอร์ส รักษาโควิดอาการน้อย-ปานกลาง

ไทยเซ็นซื้อ ‘โมลนูพิราเวียร์’ 5 หมื่นคอร์ส รักษาโควิดอาการน้อย-ปานกลาง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการลงนามจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ะะหว่าง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กับ ดร.แมรี่ เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า วันนี้ไทยลงนามจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 5 หมื่นคอร์ส โดยใช้คอร์สละ 40 เม็ด รวม 2 ล้านเม็ด เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ประเทศไทยส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนทั้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมยารักษาหลายชนิด โดยยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการจัดหามาเสริมการรักษา เพื่อให้มั่นใจว่า ไทยจะมียาในการรักษาผู้ป่วนที่มีระดับปานกลาง ถึงอาการรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม 607 คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ย้ำการจัดซื้อยาทาง สธ. พิจารณาจากหลักฐานวิชาการ วิจัยชัดเจน

“อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั่วโลกยังระบาด ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 6,000 ราย เสียชีวิต 50-60 ราย ส่วนของยามีหลายตัว ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ โมโนโคลนอลแอนติบอดี รวมถึงฟ้าทะลายโจร ล่าสุด ยาโมลนูพิราเวียร์ ที่ช่วยลดอัตราติดเชื้อในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย ถึงปานกลาง” นายอนุทิน กล่าวและว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ มีผลการศึกษาระยะที่ 3 จากอาสาสมัคร 762 ราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ติดตามให้ยา 29 วัน ผลการศึกษาทางคลินิกเบื้องต้น พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ เข้ารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 28 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 53 ราย คิดเป็น ร้อยละ 14 เสียชีวิต 8 ราย สรุปได้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ ลดความเสี่ยงเสียชีวิต หรือเข้า รพ.ในกลุ่มผู้ที่มีอาการน้อย ถึงปานกลางได้ร้อยละ 50

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางการให้ยารักษาโควิด-19 ของประเทศไทยปัจจุบัน ว่า หากไม่มีอาการก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร อาการไม่มากถึงปานกลางก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ อาจจะมียาตัวอื่นเข้ามาเสริมหากมีอาการรุนแรง แล้วแต่ประเภทผู้ป่วย แนวทางการรักษายังคงเดิม ที่มีข่าวรายงานการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า ฟาวิพิราเวียร์อาจไม่ประสบความสำเร็จนั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญรับทราบแล้ว ซึ่งกรมการแพทย์ได้มีการหารือกับอาจารย์คณะแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อ สมาคมอุรเวชช์ หารือเป็นระยะ ต้องยอมรับในระบบของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศฉีดวัคซีนมาก บางประเทศฉีดน้อย และพันธุกรรมแต่ละชาติก็ต่างกัน เท่าที่รับรายงานจากหมอหน้างานที่รักษาก็ยังยืนยันหากให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้เร็วมีประโยชน์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาวิจัยระยะ 3 ผลเบื้องต้นสามารถลดป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่ง ได้มอบการบ้านผู้เชี่ยวชาญศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาของประเทศไทย ทั้งยาที่มีใช้กันอยู่และยาที่กำลังเข้ามา รวมถึงเกณฑ์การให้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดสำหรับผู้ป่วย คาดว่าเกณฑ์การให้ยาคาดกลางเดือนธ.ค.จะมีความชัดเจน ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ FDA และเข้าอย.ไทย กว่าจะเข้ามาน่าจะเป็นไตรมาสแรกปี 2565 ได้เร่งรัดบริษัทนำเข้าให้ได้ในเดือนม.ค. 65 ส่วนแพกซ์โลวิดในจำนวน 5 หมื่นคอร์สก็เช่นกัน ได้มีการเจรจาด้วยวาจาแล้ว อยู่ระหว่างการทำสัญญา เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาก่อนเสนอครม.ขออนุมัติวงเงินและเข้ากรมบัญชีกลาง ทั้งหมดได้เจรจาขอให้ได้ยาภายในไตรมาสแรก โดยทยอยเข้ามาให้เร็วที่สุด

“หลักการยาโมลนูพิราเวียร์ และฟาวิพิราเวียร์ ออกฤทธิ์ที่เดียวกัน ยับยั้งการจำลองตัวเชื้อ แต่แพกซ์โลวิดออกฤทธิ์คนละที่โดยยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีน แต่อยู่ในเซลล์ทั้งคู่ ซึ่งต้องกินคู่กับยาริโทนาเวียร์ ประสิทธิภาพยู่ที่อาการผู้ป่วย ทั้งคู่ได้ผลสำหรับผู้ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และเน้นในกลุ่มที่ 607 ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีการศึกษา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว