ก้าวไกล จี้รัฐคุม 2 ค่ายมือถือควบรวมกิจการ หวั่นเอื้อปย.กลุ่มทุน ‘ชัยวุฒิ’ โต้ ยันรบ.ติดตามใกล้ชิด

ส.ส.ก้าวไกล จี้รัฐเร่งคุม 2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ควบรวมกิจการ หวั่นเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ด้าน “ชัยวุฒิ” โต้ไม่เอี่ยวกลุ่มทุน ยันรบ.ปล่อยเอกชนดำเนินการเอง

เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามนายกรัฐมนตรี ถึงการควบรวมกิจการทรู กับดีแทคเพื่อการผูกขาดตลาด ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองหน่วยงาน ระหว่างคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และกสทช. อยากทราบว่าอำนาจขอบเขตในการพิจารณารายละเอียด และ ผลกระทบในการควบรวมครั้งนี้เป็นของใคร เพราะต่างอ้างว่าไม่มีอำนาจในการยับยั้ง และเรื่องนี้รัฐบาลไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้

“จึงอยากทราบว่ารัฐบาลจะเรียกหน่วยงานทั้งสองมาชี้แจง เพื่อหาทางออกว่ากรณีนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆได้ หรือรัฐบาลจะปล่อยเกียร์ว่างให้เกิดสูญญากาศแบบนี้ให้เกิดการควบรวมโดยที่ไม่มีการตรวจสอบหรือประเมินผลกระทบใดๆเลย เพราะหากปล่อยไว้ในอนาคตอาจมีการควบรวมกิจการอีกโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน”

“รัฐบาลเห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้หรือไม่ ถ้าควบรวมของรายใหญ่จะเกิดการผูกขาด ฟังดูแล้วรัฐบาลเข้าใจหัวอกกลุ่มทุน แต่ไม่เข้าใจหัวอกประชาชน สิ่งที่รัฐบาลจะทำหลังจากนี้จะเป็นเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือสังคม ถ้าการควบรวมกิจการส่งผลกระทบต่อประชาชนจริง จะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างไร” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ชี้แจงว่า รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องการควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค โดยนายกรัฐมนตรีให้นโยบายผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาติดตามว่ามีอำนาจยับยั้งได้หรือไม่ ขณะนี้การรวมกิจการเป็นแค่การควบรวมระดับผู้ถือหุ้น ยังไม่ถึงขั้นการรวมกิจการมือถือ ซึ่งขณะนี้กระทรวงดิจิทัลฯ กำลังศึกษากรณีดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ ถ้ามีผลกระทบต่อการผูกขาดจะเข้าไปกำกับดูแล

ทั้งนี้ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเป็นสาธารณูปโภค เป็นโครงการพื้นฐานของประเทศ ธุรกิจแบบนี้มีการลงทุนและมีความเสี่ยงสูง และมีการให้สัมปทาน ไม่ได้มีเจ้าเดียวในประเทศ แต่ไม่ว่าจะมีการแข่งขัน 2-3 รายก็อาจมีการฮั้ว กดดันผู้บริโภคได้ ก็ต้องมีการกำกับดูแล โดยให้กสทช.ไปกำกับดูแล ป้องกันการขึ้นราคา การทำธุรกิจบางอย่างอาจไปส่งผลกระทบ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เรามีการกำกับดูแล ซึ่งกสทช.ติดตามเรื่องนี้และจะมีมาตรการออกมาในอนาคตแน่นอน

“ยืนยันจะติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด แต่รัฐบาลจะเห็นด้วยกับการควบรวมกิจการหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ เพราะการที่เอกชนวางแผนธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนเป็นอำนาจเอกชนในการตัดสินใจทางธุรกิจ เป็นสิทธิเอกชน รัฐบาลไม่ควรไปยุ่ง สิ่งที่รัฐบาลต้องควบคุมคือ การดูแลเรื่องการให้บริการ ไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบในราคาที่เป็นธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน เป็นเรื่องที่เอกชนกระทำกันเอง รัฐบาลไม่ได้เข้าไปมีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย” นายชัยวุฒิ กล่าว