“ บิ๊กป้อม” ถก 4 ชาติคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เห็นพ้องกรอบการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ ลดผลกระทบระบบนิเวศ

“ บิ๊กป้อม” ถก 4 ชาติคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เห็นพ้องกรอบการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ ลดผลกระทบระบบนิเวศ

วันนี้ (25 พ.ย. 64) เวลา 9.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นประธานการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 และการประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26 ร่วมกับ คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนาม และประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา อาทิ สวีเดน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference) โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำโขงมีความท้าทายเพิ่มสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำน้อยและภัยแล้งของแม่น้ำโขงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดลุ่มน้ำโขง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้ง 4 ประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาค ต้องมีฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อวิเคราะห์ คาดการณ์ และแจ้งเตือนล่วงหน้า พร้อมเร่งรัดพัฒนาช่องทางการแบ่งปันข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีการปรับตัวรองรับสภาพการผันผวนของภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังต้องหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนาด้วยความรับผิดชอบและการปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยวางแผนอย่างเป็นระบบล่วงหน้าร่วมกัน ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับรู้ เข้าใจและมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็น ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและเมียนมาร์ เนื่องจากชาวแม่น้ำโขงตอนบนและตอนล่างต่างมีพันธะหน้าที่ในการร่วมกันปกป้องรักษาแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงความอุดมสมบูรณ์ เป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้พัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือไปยังระดับภูมิภาคและนอกภูมิภาคผ่านการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงฉบับใหม่ด้วย
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขา สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้มุ่งมั่นดำเนินงานอย่างเต็มที่ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำ ฉบับ พ.ศ. 2564-2573 และความสำเร็จของการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ของแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ฉบับ พ.ศ. 2559-2563 แผนปฏิบัติการของยุทธศาสตร์บริหารจัดการภัยแล้งในลุ่มน้ำโขง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ตระหนักถึงข้อห่วงกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ที่ประชุมจึงมีการพิจารณาแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อกำหนดและวิเคราะห์ทางเลือกในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกันในการลดผลกระทบข้ามพรมแดน มุ่งเน้นการพัฒนาลุ่มน้ำที่เหมาะสมและได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ข้ามพรมแดน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการรักษาสมดุลความมั่นคงระหว่างน้ำ อาหาร และพลังงาน รวมถึงร่วมกันพิจารณาอนุมัติปรับปรุงระเบียบปฏิบัติขององค์ประกอบหลักของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตลอดจนรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมทั้งหารือและเสนอแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ร่วมกันด้วย
การประชุมครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในเอกสารสำคัญรวม 3 ฉบับได้แก่ 1) การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 2) การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และ 3) รายงานการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงครั้งที่ 28 ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปีนี้ ยังได้กล่าวส่งมอบการเป็นประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ปี พ.ศ. 2565 แก่ ฯพณฯ ตรัง ฮอง ฮา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งในสมัยถัดไป โดยประเทศไทยพร้อมสนับสนุนทุกการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งต่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้ง 4 ชาติสมาชิกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสด.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
25 พฤศจิกายน 2564