ไทยฉีดวัคซีนโควิดใกล้ 70% พบซิโนแวคผลข้างเคียงรุนแรงกว่าแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์

ไทยฉีดวัคซีนโควิดใกล้ 70% พบซิโนแวคผลข้างเคียงรุนแรงกว่าแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ เสียชีวิต 2%

วันที่ 23 พฤศจิกายน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร เปิดเผยระหว่างร่วมงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ” จัดโดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า ข้อมูลปัจจุบันถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า โรคโควิด-19 สายพันธุ์ที่ครองเมืองมากที่สุด คือ เดลต้า ร้อยละ 99.74 ส่วนสายพันธุ์ที่คนกังวล อย่างเบต้า ขณะนี้ยังโฟกัสอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาวิจัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าสามารถป้องกันได้หรือไม่นั้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยศิริราชพยาบาล พบว่า วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันดี แต่น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ส่วนวัคซีนสูตรไขว้ ฉีดเข็มแรกไม่แตกต่างจากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่เมื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เรียกว่า การปูพื้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย และตามด้วยไวรัลแวกเตอร์ ภูมิคุ้มกันขึ้นดีมาก

“สรุปคือ การใช้วัคซีนซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ หรือ แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ หรือ ซิโนแวค ตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิคุ้มกันดีมาก กระตุ้นสูง จึงเป็นที่มาของสูตรที่มีการรับรองและเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ คือ ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ , แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ , แอสตร้าฯ+แอสตร้าฯ ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ และสูตรไฟเซอร์+ไฟเซอร์ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 10 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้น ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ และตนเคยสอบถามคนไข้ของตัวเอง พบว่า ที่ไม่รับวัคซีน เพราะรอวัคซีนอีกชนิด ทำให้พลาดโอกาส เพราะติดเชื้อก่อน ซึ่งขณะนี้คนไข้รายดังกล่าวอยู่ในไอซียู จึงไม่อยากให้รอ ขอให้ฉีดวัคซีนที่มีก่อน และค่อยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทีหลังได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนที่ฉีดแล้ว เมื่อป่วย ความรุนแรงจะลดลงมาก อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล “หมอพร้อม” จะเห็นว่า คนที่ได้รับเข็มที่ 1 เกินร้อยละ 80 ซึ่งในระบบหมอพร้อมจะทำเป็นสีฟ้า อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมค่าเฉลี่ยเข็มที่ 1 ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งยังขาดอีกประมาณร้อยละ 30 ส่วนคนที่ได้รับ 2 เข็ม จะเห็นว่าสีฟ้ามีการฉีดไปแล้วร้อยละ 80 คือ กรุงเทพมหานคร และ จ.ภูเก็ต แต่ภาพรวมของทั้งประเทศที่ฉีด 2 เข็มไปแล้วประมาณร้อยละ 58.32 ดังนั้น หากพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนในเดือนธันวาคม 2564 โดยหลักประชากรต้องได้วัคซีนประมาณ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดส ซึ่งคาดการณ์แล้ว เราจะจัดหาวัคซีนได้มากกว่า 100 ล้านโดส โดยได้ถึง 128.6 ล้านโดส

“ดังนั้น จึงมีการปรับเป้าหมายใหม่ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สิ้นปี 2564 โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ต้องฉีดครอบคลุมให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 และในเดือนธันวาคม 2564 ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายได้ พวกเราต้องช่วยกัน ตอนนี้เรามีวัคซีนมาก แต่อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันมาฉีดวัคซีนให้ได้มากอย่างครอบคลุมที่สุด ตอนนี้เรามีวัคซีนมาก วัคซีนมีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอ ” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญ ขอย้ำการฉีดวัคซีน 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 แบ่ง 3 กลุ่ม ทั้งหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ พบว่า หากไม่ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตหากติดเชื้อร้อยละ 16 แต่หากฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเหลือ ร้อยละ 6 ส่วนกลุ่มโรคเรื้อรังหากไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 79 หากฉีดวัคซีน ร้อยละ 18 ไม่ระบุ ร้อยละ 5.8 ขณะที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 1.6 หากฉีดวัคซีน ร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ ตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ ที่ออกเป็นเช่นนี้ เพราะจำนวนตัวอย่างน้อย ตัวหารน้อย หากฉีดจำนวนมาก ตัวเลขหากฉีดวัคซีนจะลดลง สรุปคือ ไปฉีดวัคซีนดีกว่า

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรณีอาการรุนแรงจะพบว่า ซิโนแวค 7 ในแสนโดส ที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นภาวะช็อก ส่วนแอสตร้าฯ 6 ในแสนโดส ไฟเซอร์ประมาณ 4.63 ในแสนโดส ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยกรณีผู้เสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนที่ได้รับรายงาน 1,436 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้รับพิจารณาแล้ว 951 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 620 ราย มีที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 4 ราย อย่างมีอาการแพ้รุนแรง ภาวะช็อก 1 ราย มีภาวะผื่นแพ้ผิวหนัง 1 ราย และมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากวัคซีนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการติดเชื้อจากโควิด-19 แล้วเสียชีวิตสูงกว่าประมาณร้อยละ 1-2 สรุป คือ กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ที่เรียกว่า กลุ่ม “608” ขอให้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

ด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวในตอนหนึ่งว่า ข้อมูลอย่างหนึ่งจากผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เราฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 60 แต่การจะขึ้นไปถึงร้อยละ 70 ค่อนข้างยากมาก เพราะยังมีกลุ่มลังเล ไม่มั่นใจมารับวัคซีน แม้ตอนนี้ตัดปัญหาไม่มีวัคซีน จึงอยากให้คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 หรือ 3 เข็ม ช่วยกันดูว่า คนที่ไม่ไปฉีด แม้เข็มที่ 1 ขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพวกเขา ซึ่ง นพ.วีรวัฒน์ ให้ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง ว่า ขณะนี้เดลต้าครองเมือง ทั่วประเทศไทย และจังหวัดไหนฉีดวัคซีนไม่มากพอ จะระบาดอย่างกว้างขวางได้

“ประเด็นต่อมา หากไม่ได้ฉีดวัคซีนและติดเชื้อเดลต้า ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ เป็นคนมีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ โอกาสป่วยหนัก นอนไอซียู ถ้าลังเล เพราะอยากเลือกอะไรบางอย่าง มันมีราคาของการรออันนั้น ซึ่งราคานั้น หมายถึงการเป็นโรคหนัก จนเสียชีวิต เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตอนนี้เรามีวัคซีน มีประสิทธิภาพเพียงพอ เรื่องนี้จึงขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสารพวกเขา เพื่อให้ได้วัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง” พญ.สุเนตร กล่าว