‘ชุนดูฮวัน’ อดีตปธน.เผด็จการเกาหลีใต้ ผู้สั่งปราบผู้ชุมนุมกวางจู เสียชีวิตแล้วในวัย 90

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายพลชุน ดู ฮวัน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในยุคเผด็จการทหารและผู้มีส่วนสั่งการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองกวางจูในปี 1980 เสียชีวิตแล้วในวัย 90 เมื่อเช้านี้ ที่บ้านพักในกรุงโซลของเกาหลีใต้

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ชุนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินรุดไปยังบ้านพักของเขา

ชุน ดู ฮวัน เสียชีวิตตามหลังโนห์ แท-วู อดีตประธานาธิบดีและพลพรรคร่วมก่อการยึดอำนาจ ที่ได้เสียชีวิตไปเมื่อ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ในช่วงบั้นปลาย ชุน ดู ฮวาน ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ แต่ยังคงเป็นข่าวการขึ้นศาลอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำในสมัยที่นั่งประธานาธิบดีจอมเผด็จการ ไม่ว่าคดีหมิ่นประมาทอดีตพยานเหตุการณ์ผู้เปิดโปงการใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนในเมืองกวางจู หรือศาลสั่งยึดทรัพย์ประเภทสิ่งปลูกสร้างที่ถูกระบุว่าสร้างด้วยเงินที่มาโดยไม่ชอบกฎหมาย

สำหรับชุน ดู ฮวัน ได้กลายเป็นประธานาธิบดีหลังการรัฐประหาร 12 ธันวาคม 1979 โดยดำเนินแผนพร้อมผู้สมรู้ร่วมคิดอย่าง โนห์ แทวู,จอง โฮยอง,ยู ฮักซอง,ฮโย ซัมซูและเพื่อนร่วมรุ่น 11 ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก เข้ายึดอำนาจในช่วงเปราะบางทางการเมือง หลังการลอบสังหารนายพลพัค จุง-ฮี ประธานาธิบดีที่ปกครองประเทศแบบอำนาจนิยม

หลังการปราบปรามประชาชนในกวางจู นายพลชุน เผชิญแรงต่อต้านจากประชาชนที่เรียกร้องการเมืองแบบประชาธิปไตย จนในที่สุด เกาหลีใต้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านโดยให้มีการเลือกตั้งแบบเสรีและโดยตรง ก่อนลงจากตำแหน่งในปี 1988 แต่คนที่มานั่งต่อคือ โนห์ แท-วู เพื่อนร่วมรุ่นของชุน แม้เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยุคเผด็จการทหาร แต่โนห์ก็ทำตามคำมั่นในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย จนการเลือกตั้งในปี 1991 คิม ยองซัง ได้กลายเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกที่เป็นพลเรือน และสั่งการจับกุม ชุน ดู ฮวันและโนห์ แทวู จากข้อหากบฎและก่อจลาจลในช่วงการรัฐประหาร การก่ออาชญากรรมต่อประชาชนในเมืองกวางจู และคดีคอรัปชั่น

ทั้งสองถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลสูงสุดได้ลดโทษเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ก่อนที่ไม่กี่ปีต่อมา ประธานาธิบดีคิม ยองซัง ให้ปล่อยตัว หลังประกาศนิรโทษกรรมในแผนการสร้างความปรองดองในชาติในปี 1997 ตามข้อเสนอของว่าที่ประธานาธิบดีคิม แดจุง

แม้จะถูกมองเป็นประธานาธิบดีเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเล่นการเมืองนอกกติกา แต่การบริหารในช่วงนั้นที่เป็นช่วงยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯให้การสนับสนุน ชุนได้มีมาตรการที่เปิดเสรีด้านเศรษฐกิจ การยุติมาตรการเคอร์ฟิวหลังสิ้นสุดยุคสงครามเกาหลี

ชุนแสวงหาความปรองดองกับเกาหลีเหนือในยุคของผู้นำอย่างคิม อิล-ซุง พ่อความคิมจุง-อิลและปู่ของคิม จอง อุน โดยทั้งอนุมัติโครงการพบครอบครัวที่ถูกแยกจากหลังสงครามเกาหลี และเสนอความช่วยเหลือจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ แต่ในปี 1983 ชุนรอดอย่างหวุดหวิดจากการลอบสังหารของหน่วยรบพิเศษจากเกาหลีเหนือระหว่างเดินทางเยือนพม่า