‘ปลอด’ แนะผู้อาวุโส อย่าระแวงคนรุ่นใหม่เกินเหตุ ถ้าไม่อยากให้เกิดภาวะแตกแยกสุดขั้ว

ปลอดประสพ ร่ายยาว ประวัติศาสตร์โลก ยกการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติธรรมดา แนะผู้อาวุโสอย่าหวาดระแวงคนรุ่นใหม่เกินเหตุ ถ้าไม่อยากให้เกิดภาวะแตกแยกรุนแรงสุดขั้ว

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่องการเมือง โดย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง โดย ระบุว่า มันเป็นธรรมดา อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง มีผู้ชักชวนผมให้แสดงความเห็น (อย่างสั้นๆ) ในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง โดยขอให้เน้นเรื่องการเมืองการปกครอง

ผมคงจำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งที่ใหญ่ที่สุดและมีอายุยาวที่สุดก่อนคือโลกที่เราอาศัยอยู่ โลกเกิดมาเกือบ 4000 ล้านปีแล้วและก็จะอยู่ต่อไปได้อีกไม่เกิน 4000 ล้านปีเช่นกัน เพียงแต่มนุษย์เราจะอาศัยบนโลกใบนี้ได้อีกไม่เกิน 1000 ล้านปีจากนี้เป็นต้นไปเท่านั้น 4000 ล้านปีที่ผ่านมาโลกมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากถึง 9 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อ 1500 ล้านปีมาแล้วและสุดท้ายเมื่อประมาณ 100,000 ปีมานี่เอง และทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตจะหายไป (ตาย) ประมาณ 70% และที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เมื่อ 65 ล้านปีนี่เองที่เปิดโอกาสให้เกิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Homosapian)ขึ้นมาเมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว (มิเช่นนั้นจะมีแต่ไดโนเสาร์ หากมนุษย์เกิดมาตอนนั้นก็คงถูกจับกินหมด) เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงนี่แหละที่ทำให้เกิดมีมนุษย์เช่นเราๆท่านๆ

อารยธรรมของมนุษย์ก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการมาตลอดย้อนไปได้ถึง 3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช เช่น อารยธรรมกรีกโบราณ ผ่านมาเป็นอาณาจักรโรมัน มายุคกลาง และยุคใหม่ อันเฟื่องฟูที่เรียกกันว่า Renaissance ทุกพื้นที่ทุกทวีปก็มีการเปลี่ยนแปลงเกือบพร้อมๆกัน เช่น บนลุ่มน้ำไทกรีส/ยูเครทีส ลุ่มน้ำสินธุและลุ่มน้ำฮวงโห

วิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองก่อให้เกิดการเเบ่งเขตเเดน การทำสงคราม การก่อเกิดพันธมิตรและสุดท้ายหนีไม่พ้นการแข่งขันและการพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ภายใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจ ค่านิยมและคุณภาพชีวิต หรือ “โลกาภิวัฒน์” นั่นเอง ประเทศไทยและคนไทยก็เคยผ่าน “ห้วงเวลา” เหล่านี้มาเช่นกันเเล้วเราจะต้องกลัวหรือปฎิเสธการเปลี่ยนเเปลงไปทำไม

คนรุ่นใหม่ ( 40 ปีลงมา ) ประกาศว่าอดีตไม่ใช่อนาคต (แต่อดีตก็เป็นรากฐานของอนาคตนะครับ) คนรุ่นใหม่ไม่ชอบความเชื่อแบบลุ่มหลงในเรื่องจารีตประเพณีนิยม เพราะไปกั้นขวางความคิดใหม่ๆในบริษทของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมก็เห็นด้วยหลายส่วน คนรุ่นใหม่เห็นว่า การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเป็นสิ่งสร้างสรรค์ เพราะจะทำให้เราจะได้ออกจากการติดกับหรือติดหล่ม (shadow )ของประชาธิปไตยที่แฝงเผด็จการ คนรุ่นนี้เขาบอกว่า องค์กรกลางตามรัฐธรรมนูญบางคณะที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำลายผู้เห็นต่างนั้น เป็นความคิดแบบถอยหลังเข้าคลอง

คนรุ่นเก่า (60 ปีขึ้นไป) ไม่ค่อยยอมรับบริบทว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่เชื่อว่าผู้แทนราษฎรที่ผ่านการเลือกตั้งจะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง ไม่ค่อยเชื่อในความรู้และความสามารถของประชาชน (ธรรมดา) ว่าจะนำพาประเทศไปรอดได้ คนกลุ่มนี้เพราะอยู่มานาน รักชาติมานาน จึงคิดว่าพวกตนรักชาติมากกว่าคนรุ่นใหม่คราวลูกคราวหลาน สุดท้ายท่านผู้สูงด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิและชาติวุฒิ (วัดอย่างไร?) เหล่านี้ก็บอกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาเป็นผู้กำหนดและเห็นชอบเท่านั้น ผลที่เป็นรูปธรรมก็คือการไม่เห็นชอบการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านไปสดๆ

ผมชอบใจเพื่อนผมคือท่าน สส.วีระกร คำประกอบ ที่อภิปรายทำนองว่า รออีกเดี๋ยวไม่นานเด็กเหล่านี้โตขึ้นทุกวัน มากขึ้นทุกวัน สว. อยู่อีกแค่สองปี อีกหน่อยเด็กเหล่านี้เขาก็เปลี่ยนแปลงจนได้ ผมอยากให้ท่านผู้อาวุโสทั้งหลายซึ่งหลายๆคนก็เป็นเพื่อนผมได้รับฟังเด็กๆเหล่านี้ให้มากขึ้นพยายามเข้าใจเขา อย่าหวาดระแวงจนมากเกินไป มิเช่นนั้นสิ่งที่เรียกว่า Deeply Polarized Societies(การแตกแยกอย่างรุนแรงสุดขั้ว) จะเกิดขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศขณะนี้ ภาวนาว่า อย่าให้เกิด เรา (รวมทั้งผม) ควร “นอนตายตาหลับ” นะครับ

มีปราชญ์กล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์มีวัฎจักรและหมุนเวียนกลับมาเสมอ แต่จะกลับมาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยจะอยู่บนพื้นฐานของความต้องการสุขสบายของผู้คนในแต่ละยุคสมัยนั้นๆ (ความสุขสบายนี่หมายถึงของคนส่วนใหญ่นะครับ)