ส.ธนาคารไทย เผยภาคการเงินแม้มั่นคง แต่แบกรับเสี่ยงยอดหนี้ กว่า 2 ล้านล้าน

สมาคมธนาคารไทย เผย ภาคการเงินไทย แม้มั่นคง แต่แบกรับความเสี่ยงยอดหนี้ กว่า 2 ล้านล้านบาท วางโรดแมป 3 ปี เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand next move ในหัวข้อ “วิกฤตโควิด-19 จุดเปลี่ยนสู่อนาคตธุรกิจการเงินไทย” ว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มพลิกกลับมาฟื้นแล้ว แต่ประเทศไทยยังกังวลการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่ง Global competitive index (GCI) จัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 87 จากทั้งหมด 180 เขตเศรษฐกิจ และสำนักวิจัยต่างๆ ในประเทศก็ได้ประเมินจีดีพีไทย 2565 ขยายตัว 4.5% เกือบรั้งท้ายในอาเซียน มีแนวโน้มฟื้นตัวก่อนระดับโควิดได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศ

ขณะที่มิติภาคการเงินธนาคารก็เผชิญกับความท้าทายมากเช่นเดียวกัน แม้จะมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง คิดเป็นอัตราส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 20% และมีเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพสูงถึง 152% แต่ก็แบกรับความเสี่ยงก้อนใหญ่กว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสินเชื่อที่ขอรับความช่วยเหลือ โดยเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายของโลกใบใหม่ โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงมองว่าสถาบันการเงินจะต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ทิศทาง 4 ทิศทาง ได้แก่ 1. full scale digital ซึ่งการเดินทางของระบบดิจิทัลการเงินจะยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น เป็นไปตามนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีการพัฒนารวดเร็ว รวมถึงการใช้ชีวิตของคนที่อยู่บนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัลกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ของธุรกรรมการเงิน

2. Fueled by Data จะเห็นทิศทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้มข้นขึ้น และครอบคลุมประเภทที่หลากหลายมากขึ้น สถาบันการเงินขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Big data มุ่งสู่การเป็น cognitive banking โดยใช้ AI และ machine learning ช่วยวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งบล็อกเชนจะช่วยให้สถาบันการเงินเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจพิจารณาเงินทุนให้กับภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. For a better world การที่สถาบันการเงินจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมทิศทางการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ ให้สอดคล้องประเด็นด้านการยั่งยืน ยุดหลักการดำเนินธุรกิจตามกรอบสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุธุรกิจการเงินก็จะปรับตัวให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันการเงินจะมีบทบาทในการผลักดันการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ให้ได้มีโอกาสในการเติบโตได้อย่างมั่นคง

และ 4. Fast moving หรือการที่สถาบันการเงินต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับดิสรัปชั่นและการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ บทบาทการเป็นสถาบันการเงินจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากการเข้ามาของระบบบริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง ทำให้ตลาดดิจิทัลเรนนิ่งทั่วโลกเติบโตเป็นเท่าตัวภายในอีก 5 ปีข้างหน้า สถาบันการเงินจึงต้องเร่งสร้างนวัตกรรมและมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ครบวงจร

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยได้วางโรดแมป 3 ปีไว้แบบมุ่งตอบโจทย์ดังกล่าว ได้แก่ 1. Enabling country competitiveness คือการเป็นกลไกที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการเอื้ออำนวยให้เอกชนสามารถทำธุรกรรม และให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. Regional championing สนับสนุนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถทำกิจกรรมทางการค้า การซื้อขายออนไลน์ และการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างไหลลื่นในต้นทุนต่ำ

3. Sustainability การดำเนินงานของธนาคารเอง การมีส่วนผลักดันในการดำเนินธุรกิจของประชาชนที่คำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

และ 4. Human capital การสร้าง Pool of Talent ให้มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต ปรับตัวรองรับกระแสดิสรัปชั่นต่างๆ ให้ได้

“ประเด็นที่มีความสำคัญจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปีนี้ เช่น การพัฒนาบริการที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัดด้วยการลดต้นทนกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น การจัดทำ ESG แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนมาตรการอื่นๆ จะทยอยผลักดันในปี 2565 เป็นต้นไป สมาคมธนาคารคาดว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่สำคัญ เช่น การเผยแพร่แนวทาง Open banking แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยง แนวทางลดหนี้ครัวเรือน เป็นต้น” นายผยง กล่าว