ทอ.รับ ซื้อเครื่องบินโจมตี AT-6 จากสหรัฐฯ 8 ลำ ทุ่มงบ4.5พันล้าน ทดแทนเครื่องเก่าที่ใช้มานาน รองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ

ทอ.รับแล้ว ซื้อเครื่องบินโจมตี AT-6 จากสหรัฐฯ 8 ลำ ทุ่มงบถึง 4,500 ล้าน ทดแทนเครื่องบินที่ใช้มานาน เพื่อรองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.64 จากกรณีมีการเผยแพร่ข้อความว่า “กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบารุ่น AT-6 จากอเมริกา จำนวน 8 ลำ” ล่าสุดรายงานข่าวจากกองทัพอากาศยอมรับว่า เป็นการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา (AT-6) จำนวน 8 ลำ พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อทดแทนเครื่องบินแบบ L-39 ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และปลดประจำการแล้ว รองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับหน่วยงานอื่น วงเงินงบประมาณ 4,500 ล้านบาท

สำหรับวงเงินงบประมาณอาจมีความผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในห้วงนั้น (หากอ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันที่ 16 พ.ย.64 เป็นเงิน 4,688,260,522 บาท ซึ่งเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 5 ปี ระหว่างปี 64-68 )

รายงานข่าวเผยอีกว่า สำหรับการพิจารณาเลือกเครื่องบินแบบเบา AT-6 ของบริษัท Textron Aviation Defense LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อพิจารณาที่สำคัญประกอบด้วย ความประหยัด ในการส่งกำลังและซ่อมบำรุงจากการใช้ อะไหล่ร่วมกันได้กับอากาศยานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ระยะเวลาในการฝึกที่ลดลง เนื่องจากเป็นอากาศยานในตระกูลเดียวกับที่ใช้ฝึก แต่เพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น และมีความเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจบริเวณแนวชายแดน ในการลาดตระเวนติดอาวุธ เป็นต้น

โดยโครงการนี้กองทัพอากาศได้รับการคัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างในการเข้าร่วมจัดทำข้อตกลง คุณธรรมจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และได้ดำเนินการลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างกองทัพอากาศ (หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการม, ผู้ประกอบการ (บริษัท Textron Aviation Defense LLC
สหรัฐอเมริกา) และคณะผู้สังเกตการณ์ จำนวน ๓ ท่าน (คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต) ประกอบด้วย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร และ อาจารย์วิชา เมฆตระการ

ทั้งนี้ คณะผู้สังเกตการณ์ ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา โดยมีการรายงานผลอย่างต่อเนื่องพบว่า กองทัพอากาศดำเนินการได้อย่างถูกต้องและโปร่งใส

สำหรับความก้าวหน้าของโครงการในปัจจุบันได้ดำเนินการในกระบวนการขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยแล้ว กองทัพอากาศได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อแล้ว เมื่อ 24 ส.ค.64 ที่ผ่านมา