‘ทูตรัศม์’ ชี้ เยอรมันเลือกรับ-ไม่รับหนังสือก็ได้ การออกมายืนรอ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง

ทูตรัศมิ์ ชี้ เยอรมันเลือกรับหรือไม่รับหนังสือก็ได้ การออกมายืนรอ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง

กรณีการนัดชุมนุม นำโดย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย DRG, กลุ่มเหล่าทัพราษฎร, ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, SUPPORTER THAILAND, We Volunteer และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ต่อมา ประกาศย้ายไปยังแยกปทุมวัน และเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมัน โลกออนไลน์ร่วมกันแชร์ภาพเจ้าหน้าที่สถานทูตเยอรมันที่ออกมารอรับหนังสือจากผู้ชุมนุมบริเวณด้านหน้าสถานทูต โดยระหว่างนั้นผู้ชุมนุมยังอยู่ระหว่างการเดินทาง พร้อมมองว่านี่เป็นการกระทำของผู้ที่มาจากประเทศที่เจริญแล้ว เพราะรู้ว่าทุกเสียงมีคุณค่า

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยใน​หลายประเทศ เจ้าของเพจทูตนอกแถว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า

ตัวอย่างของนักการทูตที่ควรเป็น

เห็นข่าวและภาพนักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยมายืนรอรับหนังสือของผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อวานนี้ก็รู้สึกชื่นชมเหมือนกับคนไทยอีกหลายๆคน

ทั้งเคร่งขรึม สง่าผ่าเผยในสถานการณ์ที่ไม่ได้ถือว่าปลอดภัยทีเดียวเพราะก่อนหน้ามีข่าวผู้ร่วมชุมนุมถูกยิง ท่วงท่าสมกับเป็นนักการทูตโดยแท้ (แถมใส่เสื้อสีหวานอีกต่างหาก)

(และขอบอกตรงนี้ว่าเคยเห็นหนังสือภาษาอังกฤษของสถานทูตเยอรมัน คือเขียนได้ดีมากๆ กระชับสั้น ได้ใจความครบถ้วน เป๊ะๆ – ผมว่าการใช้ภาษาของเขาดีกว่าหนังสือของสถานทูตอเมริกันที่ผมเคยเห็นอีก- ที่นักการทูตไทยควรเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง)

นี่คือตัวอย่างของนักการทูตที่ควรเป็นโดยแท้

แต่ที่อยากจะบอกอีกอย่างคือ ทางสถานทูตเขาเลือกจะรับหรือไม่รับหนังสือก็ได้นะครับ และถ้าเขาเลือกจะรับหนังสือ จริงๆเขาก็สามารถรับทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องออกมายืนรอหน้าสถานทูตหรอก แต่การที่ผู้ชุมนุมเดินทางมายื่นหนังสือเช่นนี้มันเป็นเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งทางสถานทูตเขาก็เข้าใจและออกมายืนรอรับ และนี่ก็คือสิ่งที่เขาตั้งใจต้องการสื่อให้ทั้งทางการไทยรู้และเข้าใจด้วย

ตัดภาพไปยังเวทีการประชุมรายงาน UPR ของสหประชาชาติ ที่มีการรายงานเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในบ้านเราโดยนักการทูตไทย

ผมรู้สึกเศร้าใจอย่างไรบอกไม่ถูกครับ