‘สฤณี-วันชัย’ ร่วมแหวกมายาคติและอคติในสังคมไทย ปลุกปชช.ร่วมตั้งคำถามและฟังอย่างมีขันติ

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17.00 น. ในงาน Matichon Bookmark 2021 สำนักพิมพ์มติชนได้จัดงานเสวนา ชวนถกในวงเสวนา แหวกม่านมายา(อ)คติ ในสังคมไทย โดยได้รับเชิญจากผู้เขียนหนังสือ
อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปลและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเมืองและธุรกิจ ผู้เขียนหนังสือที่กำลังเปิดตัวอย่าง “Behind the illusion ระบอบลวงตา” และวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดีและผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการนิตยสารสารคดี

ทำความเข้าใจ “มายา-อคติ”

สฤณีกล่าวถึงสภาวะ มายาคติ (อาจรวมถึง อคติ) ในสังคมไทยว่า คำว่า มายาคติและอคติ โดยอคติจะมองว่า เพราะเป็นเรื่องความชอบ เลือกที่รักมักที่ชัง แต่มายาคติ คือสิ่งที่ไม่จริง เป็นมายา หลายเรื่องที่เราอาจเชื่อว่าจริงแต่พอมองรอบด้าน ที่จริงกลับไม่จริงหรือไม่เป็นอยากที่เราเชื่อ ทีนี้ ที่มาของหนังสือเล่มนี้ ก็ต้องให้เครดิตกับผู้ถกในโลกออนไลน์ เพราะเรามีโซเชียลมีเดียที่คุยกับคนเห็นไม่ตรงกันตลอดหลายปี และพอเปิดเพจสาธารณะของตัวเอง ก็มีคนมาถกเถียงมากมาย การที่มีคนมาเถียงทำให้ได้คิดอะไรหลายอย่าง หลายสิ่งหลายอย่างอาจเป็นความเชื่อ เราอาจผิดได้ในความคิด

ยกตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นว่ารัฐประหารสามารถทำให้เป็นประชาธิปไตยได้ พอเกิดรอบล่าสุดในปี 2557 มีการนำเอางานวิชาการของนักวิชาการท่านหนึ่งมาเผยแพร่ อธิบายความชอบธรรมของการรัฐประหาร เรียกอ้างว่ารัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย พอเราไปอ่านงานดังกล่าว รู้สึกไม่ใช่ รัฐประหารไม่ตรงกับสิ่งที่ว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องชัดเจนว่า ทำแล้วต้องรีบคืนอำนาจ จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเป็นตัวอย่างของที่เรารู้สึกว่าเป็นความเชื่อ แล้วพอมีคนเข้าใจต้นตอ เขาอาจจะมองเห็นได้และตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งอาจเป็นธีมหลักของหนังสือ

เหมือนกับน้ำใสแต่จริงๆมีขุ่นตะกอนอยู่ข้างล่าง สิ่งที่เราเชื่อหลายอย่าง อาจต้องมองอีกด้านหรือลึกกว่านั้น หนังสือเล่มนี้ ยังพูดถึงกฎหมายจำนวนหนึ่ง เพราะตัวเองสนใจงานธนาคาร เกี่ยวกับการคอรัปชั่น ว่าสิ่งที่เรียกว่าการฉ้อฉลทางอำนาจเปลี่ยนไปแค่ไหน แม้รู้สึกว่ากฎหมายคือกฎกติกาที่ต้องทำตาม
เป็นคนดีต้องทำตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ซับซ้อนแล้ว หลังการรัฐประหาร คสช. ก็ใช้กฎหมายรองรับอำนาจ แล้วพอหลังการเลือกตั้งปี 62 มีลักษณะที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “รัฐบาลอำพราง” กฎหมายถูกใช้เพื่อใคร โดยอะไร เครือข่ายพลเมืองเน็ตที่เราตั้งก็ติดตั้งการใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ว่า มีลักษณะยังไง

ด้านวันชัยกล่าวถึงมายาคติในฐานะปัญหาว่า เรื่องมายาคติ สิ่งสำคัญที่สุดตั้งแต่หลายสิบปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่ชอบพูดอย่างสำนวนที่ว่า เราอาบน้ำร้อนมาก่อน เด็กต้องเชื่อผู้ใหญ่ ที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย การเชื่อฟัง ซึ่งตนไม่ชอบใจ

มีครั้งหนึ่งมีนักร้องดังคนหนึ่งมาถามผมว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยต้องเชื่อฟัง เขาบอกว่า “เชื่อ” กับ “ฟัง” คนละความหมายกัน ทำไมไทยเอามารวมกัน เราควรจะฟังทุกคน แต่ความเชื่อเป็นเรื่องของเรา แต่สังคมไทยถูกสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ฟังแล้วเชื่อเลย อย่าตั้งคำถาม ผมถึงเข้าใจเลย ครูสอนอะไร พอถามอะไรก็ไม่มีใครตอบ พื้นฐานสำคัญของปัญหาในสังคมไทยคือ ความรู้ถูกกุมโดยผู้มีอำนาจ

คนที่เป็นผู้น้อยหรือเด็กกว่า ไม่สามารถโต้แย้งได้ เราควรฟังด้วยวิจารณญาณ แต่สังคมไทยถูกสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ คำพูดนี้เป็นมายาคติที่ทำให้คนที่ต่ำต้อยกว่าหรือไม่ได้รับการศึกษาหรืออยู่ต่างจังหวัด ต้องเชื่อฟังนาย สมัยก่อนถ่ายทอดความรู้ยังไง ก็มาจากมุขปาฐะ หรือหนังสือที่เป็นของชนชั้นสูง ยิ่งเจอคำพูด “เชื่อฟัง”

อันนี้คือพื้นฐานที่ทำให้สังคมไทยไม่มีการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ความรู้บนโลกออนไลน๋์ ทำไมเด็กไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ เพราะความรู้ที่ถ่ายทอดทางเดียว มาสู่ช่องทางหลากหลาย ถามว่าทำไมค่านิยม 12 ประการของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความรู้พอกระจายแล้วก็เกิดคำถามว่าสิ่งที่เรียนมันใช่ไหม

ปัญหาของการศึกษาคือ การเชื่อฟังผู้ใหญ่ เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย มายาคติใหญ่ของสังคมไทยคือเราต้องเชื่อฟังผู้มีอำนาจ ผู้อาวุโสกว่า เป็นคำใหญ่มากที่มายาคตินี้ยังอยู่ โอกาสที่จะเรียนรู้ใหม่จะถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจตลอดเวลา

 

เมื่อถามถึงความท้าทายใหม่ที่นำไปสู่การทลายมายาคติต่างๆ นั้น สฤณี กล่าวว่า สิ่งที่คุณวันชัยพูดจะเห็นชัดว่า หลายคนมักอ้างผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ใหญ่ ชอบก็อปแปะ จนบางครั้งสงสัยว่าเกี่ยวอะไร เราจะเห็นการปะทะของการแสวงหาความรู้ ระหว่างคนที่ยังเชื่อจากผู้ใหญ่กับคนที่พยายามหาเหตุผล ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ใช้หลักกาลามสูตรนะ

เมื่อถามถึงกฎหมายที่ดำรงอยู่เป็น รากฐานสถาปนา รวมถึงมายาคติเกี่ยวกับความยุติธรรมนั้น สฤณีกล่าวว่า การมีระบุในหนังสือว่า กฎหมาย ไม่เท่ากับ ความยุติธรรม คนที่ไม่ได้ข้องแวะกับกฎหมายก็มักเข้าใจ ถ้ากฎหมายออกมาแปลว่าต้องคิดกลั่นกรองดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น กฎหมายมีเจตนาถูกต้อง หรือกระบวนการได้มาซึ่งกฎหมายตรงกับจุดประสงค์ไหม

ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับอำนาจและระบอบการเมือง ใช้อำนาจผ่านกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามถึงความชอบธรรม คนก็ตั้งคำถามว่าใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติหรือไม่ อย่าง มาตรการโควิด กฎหมายส่งเสริมลงทุน หรือพรก.ฉุกเฉิน สุดท้ายก็จะ ต่อให้เราไม่ได้โดน ก็บ่งชี้ว่าถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้เรื่อยๆ กฎหมายจะหมดความน่าเชื่อถือ เราก็ไม่ไว้ใจกฎหมายและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สังคมจะอยู่ยังไง

สังคมสมัยใหม่ เป็นเรื่องธรรมชาติของการเห็นต่าง เอาจริงๆ ไม่ว่าสังคมไหนก็มีความแตกต่างทางความคิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้ากฎหมายถูกใช้โดยขาดความเป็นกลาง มีลักษณะใช้กฎหมายใดที่ใครได้ประโยชน์บ้าง

วันชัย กล่าวเสริมว่า ผมยกตัวอย่างกรณี คนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง 8 ปีที่แล้ว มีคดีบอสขับรถชนตำรวจ ตำรวจตกใจและโกรธมาก ปรากฎว่า ผู้ต้องหาโดน 4 ข้อหา เมาแล้วขับ ชนแล้วหนี ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และขับเร็วเกิน แต่ผู้ต้องหารายนี้โดนตรวจแอลกอฮอล์ในวันรุ่งขึ้น แม้เจอบ้าง แต่ตำรวจอ้างว่า ผู้ต้องหาเครียดเลยกินเหล้าก่อนเกิดเหตุ จนกระทั่งคดีนี้หมดอายุความ
หลายข้อหาตกหมด เหลือเพียง 1 ข้อหา แต่สุดท้าย อัยการไม่สั่งฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานให้ขึ้นศาลได้ ค้านสายตาสาธารณชน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชี้ว่าเป็นสุดยอดเทคนิคกฎหมาย การยื้อกฎหมายจนหลุดคดี เป็นตัวอย่างความอยุติธรรมในสังคมไทยที่มีกฎหมายรองรับว่าไปกันได้ไหม เป็นสิ่งคาใจคนไทยทั้งประเทศ จนทุกวันนี้

ระบบยุติธรรมไทยมีปัญหามาตลอด ว่าทำไมคดีแบบนี้หลุด ทั้งที่ข้อหานี้มีความผิด

มายาคติ “ประชานิยม” สู่ “ประชารัฐ” และ “ระบอบประยุทธ์”

เมื่อมองถึงนโยบายสาธารณะต่างๆ แล้วมักเจอการโจมตีบนความเชื่อต่างๆนั้น สฤณีกล่าวว่า สิ่งที่สนใจ อย่างนโยบายประชานิยม เราอาจไม่เหมือนกับที่อื่น ประชานิยมต่างประเทศอาจทำเพื่อคะแนนเสียง ที่จะนำเอาความต้องการของประชาชนมาเพื่ออำนาจได้ แต่ไทยนโยบายประชานิยมเป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ มีความเชื่อว่า นโยบายอะไรก็ตามที่แจกเงิน อาจทำให้คนเสียนิสัย เป็นการซื้อเสียง แต่อีกมุมถ้าสุดโต่ง นโยบายอะไรก็ตามคนได้ประโยชน์แม้ได้เงินก็ไม่เป็นไร เพราะคนได้ประโยชน์

หากเรามองในมุมเศรษฐศาสตร์ นโยบายประชานิยมกลายเป็นเรื่องการเมือง แต่ถ้ามองความถูกต้องของนโยบายสาธารณะ อาจดีในหลักการแต่แนวทางปฏิบัติอาจไม่ถูกต้อง เปิดช่องให้เกิดการทุจริต บางโครงการไม่ดีเพระหลักการ ซึ่งต้องดูในรายละเอียด ถ้าเทียบประชานิยมกับ “ประชารัฐ” โครงการประชารัฐถูกโฆษณาว่าดีกว่าประชานิยม เป็นไอเดียของนพ.ประเวศ วะสี ให้ทุกภาคส่วนมารวมพลัง แต่พอมาใช้ในยุค คสช.

ถ้าดูองค์ประกอบก็เห็นว่า ตัวแทนประชาชนอยู่ตรงไหน หรือมีน้อยมาก หลักๆมีแต่เอกชน แถมเป็นเอกชนกลุ่มทุนใหญ่ที่มีพฤติกรรมชวนตั้งคำถาม จนเรียกว่าโครงสร้างนี้เป็น ทุนนิยมชนชั้น พอชื่อประชารัฐเป็นพรรคก็ไม่ต้องสงสัยว่านโยบายหาเสียงว่าคืออะไร ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้ ตรงนี้ ทำให้เราอยากให้ดูนโยบายสาธารณะมากกว่า กระบวนการทำนโยบาย การนำนโยบายไปใช้ปฏิบัติ และการตรวจสอบถ่วงดุล

วันชัย กล่าวว่า จากการสำรวจชุมชนต่างๆ ก็พบร้านธงฟ้าประชารัฐ ผมไปซื้อของ แต่ของข้างในเกินครึ่งเป็นสินค้าจากบริษัทรายใหญ่ไม่ใช่สินค้าชุมชน กลายเป็นว่าเป็นตลาดของทุนใหญ่ พอมีเลือกตั้งและพรรคพลังประชารัฐแล้ว สวนสาธารณะอะไรก็ตาม ที่มีชื่อตามหมู่บ้าน ปรากฎเปลี่ยนชื่อเป็นประชารัฐหมดเลย เหมือนเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ผมคิดว่าเป็นวิธีการสร้างแบรนด์ เป็นความชาญฉลาดของผู้มีอำนาจ

ย้อนนึกถึงนโยบายเงินผันสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ คำถามนี้ ทำไมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายที่ไม่ตาย เพราะตรงใจคนและเป็นโครงการที่ใช้ภาษีและการบริหารงานเงินเพื่อยกระดับสวัสดิการให้ดีขึ้น เพราะเป็นโครงการประชานิยมที่โดนใจประชาชน แม้โครงการตำบลละ 1 ล้านแต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังอยู่

สฤณีกล่าวว่า แล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังจำเป็นไหม แม้เป็นเรื่องดี แต่วิธีการของการมียุทธศาสตร์ชาติคือคนกลุ่มหนึ่งเขียนยุทธศาสตร์และกำหนดให้รัฐบาลทำตาม แต่ถ้าสมมติยุทธศาสตร์ไม่ถูกต้องและต้องเปลี่ยน ก็อาจเพิ่มยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยน แล้วถ้าเกิดเปลี่ยน มีรัฐบาลที่พบว่านโยบายไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ก็ถูกส่งเรื่องไปส.ว.และทำให้รัฐบาลสิ้นสุดลงแล้ว

ทั้งๆที่รัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร มีหน่วยงานราชการรับผิดชอบ แต่คนออกแบบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ซึ่งไม่ใช่ คนเขียนเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของกลไกนอกระบบเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงเนื้อหาส่วนอื่นในหนังสืออย่าง “ระบอบประยุทธ์” เกี่ยวกับมายาคติแค่ไหน สฤณีกล่าวว่า ระบอบประยุทธ์ (คนเสนอคือ ประจักษ์-วีรยุทธ) เป็นระบอบที่ผนวกรวม ขุนศึก ศักดินา พ่อค้า ข้าราชการ องคพยพแวดล้อมเหล่านี้เกื้อหนุนประยุทธ์ ตนที่สนใจการคอรัปชั่น พอเห็นไปการฉ้อฉลอำนาจที่เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในระบอบประยุทธ์ ระบอบประยุทธ์สามารถออกแบบตั้งแต่ชั้นกฎหมาย หรือองค๋์กรอิสระทั้งๆที่ต้องวางตัวเป็นกลาง

ซึ่งสังคมไทยต้องตั้งคำถามว่า องค์กรอิสระ นั้นอิสระจริงไหม

วันชัยกล่าวเสริมว่า ปัญหาใหญ่อันหนึ่งของระบอบประยุทธ์คือ ปัญหาตีความกฎหมายที่ให้อำนาจกับผู้รักษากฎหมาย อย่างเรื่องการผูกขาดก็มักตีความเข้าข้างผู้มีอำนาจ สิ่งที่อยากพูดคือ ปัญหาอำนาจตีความเกิดขึ้นกับผู้รักษากฎหมาย ถามว่าทุกวันนี้ ใครเป็นผู้ให้คุณให้โทษ ประชาชนผู้เสียภาษีหรือ? เป็นนายของพวกเขาต่างหาก ซึ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะระบบราชการตลอด 5-6 ปี มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบราชการ ข้าราชการได้สิ่งที่เรียกว่านายดูแลดี

อะไรก็แล้วแต่นาย ปัญหาการตีความกฎหมาย ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาที่ว่า “ใครเป็นนาย” นายว่าไงก็ไปตามนั้น

ข้าราชการที่เป็นแบบนี้โดยจนไม่ยึดโยงหรือรับผิดชอบต่อประชาชน ถามว่าข้าราชการแคร์ประชาชนไหม เป็นระบบที่ ถ้ามองจากมุมสัมฤทธิ์ คนออกแบบคิดว่าทำยังไงให้ได้มีอำนาจและคนไม่ชอบหมดสิทธิ์ขึ้นมา ผลลัพธ์ที่เลี่ยงไม่ได้คือการไม่ต้องรับผิด กลายเป็นระบบที่สุดท้ายไม่มีการรับผิดชอบ ไม่รู้เป็นไปได้ไหมที่คนแม้แต่ชอบประยุทธ์ก็ต้องมองตรงนี้

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงประชาชนที่ต้องทำมาหากินนั้น ทำอะไรได้กับมายาคติที่ดำรงอยู่ สฤณีกล่าวว่า ถ้าตอบกำปั้นทุบดิน ในฐานะเชื่อมั่นพลังของการแลกเปลี่ยนความเห็น จุดเริ่มต้นคือพยายามอธิบาย แน่นอนความเห็นเราอาจผิดก็ได้ และยินดีถ้ามีคนเขียนตอบโต้ แต่ต้องเริ่มยพยายามมองหลายมุม มาคุยถกเถียงกัน ทัศนคติหรือมายาคติ เริ่มแตกเพราะโลกออนไลน์ ความจริงไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงภาวะ Echo Chamber สฤณีกล่าวว่า ก็พยายามติดตามคนคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ต้องตามล่ะ เพราะพวกเขามาหาเราเอง ไม่ว่าถ้าคุณเชื่อประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม ก็น่าจะเริ่ม ณ จุดนี้

วันชัย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ จะทำให้เห็นว่า สิ่งที่ทำให้นำไปสู่การรัฐประหาร 2557 แล้วทำไมประเทศไทยถดถอยลงเรื่อยๆ หนังสือนี้จะให้คำตอบ แล้วคิดดูว่า 7 ปีมานี้ เราสูญเสียอะไรไป

ทั้งนี้ สฤณีฝากหนทางในการฝ่ามายาคติในสังคมไทยว่า เราเสียเวลาพอแล้ว ถึงเวลาประชาชนทุกคนต้องตั้งคำถาม เริ่มจากคนใกล้ตัว แล้วขยายไปสู่จุดอื่น แล้วอย่าลืมว่า ระบอบประยุทธ์ไม่ได้หยุดนิ่ง และยังพยายามพยุงมายาคตินี้ไว้ ทำให้เรายิ่งต้องลงแรง

เช่นเดียวกับวันชัยที่กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมา เราพยายามสื่อสารถึงเพื่อนก็เริ่มเปลี่ยนความคิดแล้ว การอดทนที่จะฟังและอดทนพอที่จะพูด เป็นสิ่งสำคัญในยุคสมัย เราต้องอดทนฟังคนรุ่นใหม่ และอดทนแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ด้วย