เผยแพร่ |
---|
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารรายสัปดาห์ที่เป็นชุมชนนักคิด คอลัมนิสต์ที่นำเสนอแง่มุม ให้วิเคราะห์ ต่อยอดและถกเถียงแลกเปลี่ยน ได้ก้าวสู่ครบรอบปีที่ 42 ของนิตยสาร ได้จัดงานเสวนา 2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย เชิญบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองชั้นนำของไทยมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ภาคการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศหลายมิติ หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ในช่วงร่วมแลกเปลี่ยนเมื่อเวลา 14.30 น. หลังการแสดงวิสัยทัศน์ จากนักการเมืองระดับแกนนำสำคัญของพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และคุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่านคำถามจาก จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง
เมื่อถามถึงประเด็นล่าสุดที่สังคมถกเถียงกันอย่างมาตรา 112 ที่กลับมาอีกครั้ง หลังการใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะฝั่งประชาธิปไตยหลายกลุ่ม และการผลักดันระดับพรรคการเมืองโดยพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้มีการพูดคุยในรัฐสภา จนเกิดเสียงแตกระหว่างฝ่ายปฏิรูปที่ต้องการแก้ไขของพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตย ฝ่ายยกเลิกของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า และฝ่ายต่อต้านการแก้ไขพร้อมกับเพิ่มการใช้ปราบปรามอย่างแข็งกร้าวจากรัฐบาล พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองตั้งแต่อนุรักษ์นิยมจนถึงขวาสุดโต่งที่เชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนกรณีการบังคับใช้ มาตรา 112 พรรคเพื่อไทยย้ำในจุดยืนตามที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคได้กล่าวไว้ โดยจะเป็นตัวกลางนำปัญหาเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อแก้ไขปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลซึ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดและบีบคนเห็นต่าง ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมรับฟังปัญหาทุกฝ่าย นำปัญหานี้เข้าสู่สภา ซึ่งเป็นหนทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติที่สุด
ด้านคุณนิพนธ์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ยืนยันว่า กฎหมายนี้ ใช้มานานหลายปี เรามีกฎหมายนี้อยู่ กฎหมายนี้ไม่ได้เจาะจงทำร้าย แค่ใครไม่ทำร้ายประมุขรัฐ กฎหมายนี้ก็ไม่ทำร้ายใคร ไม่ว่าประมวลกฎหมายออกยังไง ถ้าไม่ได้ทำผิด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งใคร ก็พร้อมลงโทษในการทำหน้าที่โดยมิชอบ ผมคิดว่า ม.112 ไม่ได้จงใจรังแกใครเกินไป มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ได้ทำร้ายใครยกเว้นใครทำความผิดเข้าองค์ประกอบกฎหมาย กฎหมายอาญาสถานใดก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
ขณะที่ คุณศิริกัญญา กล่าวว่า ก้าวไกลที่จะมีแนวทางแก้ไขกฎหมาย ม.112 ซึ่งเป็นแนวทางพรรคที่แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ ซึ่งกฎหมายอาญา ม.112 มีปัญหาโทษรุนแรงเกินไป ทำให้เราดูทุกระดับของการหมิ่นประมาทเพื่อให้คงเส้นคงวา แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงกำลังมา ที่เราคุยกันก็มีอีกแนวทางที่ภาคประชาชนยื่นเสนอยกเลิก ก็ต้องมีการพูดคุยกันว่าจะแก้ไขหรือยกเลิก ในแต่ละระดับจะเอายังไง มีโทษยังไง ก็ที่เรายื่นไปทำให้เราได้พูดคุยถกเถียง เปิดรับความเห็นคิดที่ประชาชนว่ามีข้อเสนอยังไง ให้ข้อเสนอนี้ไปสู่รัฐสภา ฟังความเห็นผู้แทนราษฎรว่ามีความเห็นยังไง จุดประเด็นคุยกับสังคม จะทำยังไงให้พูดเรื่องนี้ได้ในสังคม อยู่บนเหตุและผล
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เรามองเห็นปัญหาความสำคัญของเรื่องที่ถกเถียงกัน ยอมรับว่า เรื่อง ม.112 มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะแก้หรือยกเลิกยังไง ตนมองว่า มีความจำเป็นว่า ต้องนำมาพูดคุย ตนได้นำเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วว่า คนที่จะเห็นปัญหาเข้ามาคุยอย่างสันติในพื้นที่พูดได้อย่างปลอดภัย เพราะพูดข้างนอกไม่เป็นผลดีทั้งผู้พูดและผู้ที่ถูกพูด สภาคือทางออกในการหาข้อยุติ ซึ่งน่าเสียดายว่า ปีกว่าที่ปล่อยให้แผลลึกไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีกับใคร วันนี้คิดว่าสิ่งจำเป็นคือ ต้องนำมาพูดและองค์ประกอบในการพูด ให้ครบถ้วน
วันนี้ประชาชนอย่างเราสถาบันกษัตริยต้องอยู่ต่อ เมื่อถามว่าต้องมีอยู่ไหม กฎหมายที่คุ้มครอง ถ้าเรายึดถือคนเท่ากัน แต่การใช้ม.112 ตีความอย่างเกินเลย กว้างมาก เป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้ปิดปาก เล่นงานฝ่ายตรงข้าม เรื่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่จำเป็น ถ้าเวทีที่ใช้เหตุผล สภาดีที่สุด กรณีที่อยากให้แก้ ไม่อยากให้แก้ก็มี ประชาชนทุกคนก็มีกฎหมายที่ไม่ให้ละเมิดตัวเอง ตรงนี้เราต้องมาพูด และอยากเห็นสภามาทำหน้าที่ เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์และรักษาความเป็นธรรมให้กับทุกคน