คนตุลาปชต.ขึ้นศาลยื่นประกัน 4 แกนนำราษฎร “จาตุรนต์” ชี้ ม.112 มีปัญหาทั้งเนื้อหา-สาระ-บังคับใช้

ศาลนัดฟังคำไต่สวนถอนประกัน 4 แกนนำคณะราษฎร คนเดือนตุลาประชาธิปไตย รวมตัวร่วมเป็นนายประกัน อ่านแถลงการณ์ของธงชัย วินิจจะกูล ใฝ่ฝันถึงวันที่ดีกว่า

วันที่ 3 พ.ย.2564 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญารัชดาภิเษก มีการนัดฟังคำไต่สวนเพิกถอนประกันตัว 4 แกนนำราษฎร คดีการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรเมื่อปี 2563ประกอบด้วย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ นายอานนท์ นำภา ซึ่งนายภาณุพงศ์และนายอานนท์ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วจากคดีอื่น

ทั้งนี้กลุ่ม OctDem ร่วมกับ 18 อดีตผู้ต้องหา คดี 6 ตุลา 2519 อดีตแกนนำนิสิตนักศึกษาและนักคิด นักเขียน นักวิชาการ ช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ร่วมกันไปเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาการเมือง ประกอบด้วยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินอาวุโส นายสุธรรม แสงปทุม อดีตแกนนำนักศึกษาและผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกมนตรี

โดยมีนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชนและอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้ประสานงาน และได้มีการเตรียมหลักทรัพย์ของทางกลุ่มเพื่อมาใช้ในการประกันตัวในวันนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ได้มีการแถลงข่าวและอ่านคำแถลงของกลุ่มคนเดือนตุลาฝ่ายประชาธิปไตย ที่เขียนโดย นายธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาและผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 2519

โดยคำแถลงระบุดังนี้ หรือความเป็นไทยคือการหลงยึดติดอดีตจนพร้อมจะขับไล่ไสส่งคนที่ใฝ่ฝันถึงวันที่ดีกว่าให้ออกไปพ้นสังคมไทย

ความไม่ลงรอยกันของความฝันคนละชนิดเป็นธรรมดาของทุกสังคม แต่ผู้ทรงอำนาจของไทยมักกล่าวหาคนที่ปรารถนาวันพรุ่งที่ดีกว่า ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกหาว่าเป็นคนที่เพี้ยน ถูกส่งเข้าคุก 17 ปีอย่างเทียนวรรณ หรือเข้าโรงเลี้ยงคนบ้าอย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบถูกจับเป็นกบฏ อย่างคณะ ร.ศ. 130 ถูกตามล้างทำลายชั่วชีวิตชั่วลูกหลานอย่างผู้นำคณะราษฎร หรือถูกดับชีวิตเพื่อกำราบให้หยุดฝันอย่างเพื่อนของเราเมื่อ 6 ตุลา

รัฐไทยไม่เรียนรู้สักทีว่าความใฝ่ฝันถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นปกติวิสัยของคนทุกยุคสมัย ไม่มีทางหยุดยั้งได้เพราะเป็นธรรมดามนุษย์ แทนที่จะถกเถียงต่อสู้กันทางความคิดอย่างอารยชน กลับทำร้ายอย่างป่าเถื่อนและกำราบปราบปรามด้วยกฎหมายอย่างอยุติธรรม ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรมีใครถูกทำร้าย สละชีวิต หรือสูญเสียเสรีภาพแม้แต่คนเดียว เพียงเพราะต่อสู้เพื่อความฝันของเขาอย่างสันติ

รัฐยังคงกระทำผิดเช่นเดิม ๆ กับเยาวชนคนหนุ่มสาว ณ วันนี้ ทั้ง ๆ ที่การประกาศฝันถึงวันพรุ่ง ไม่ใช่อาชญากรรม เมื่อคราวพวกเราอายุเพียงประมาณ 20 ปี เราใฝ่ฝันถึงสังคมนิยมจึงถูกฆ่าอย่างป่าเถื่อน เพื่อนเราหลายพันคนถูกผลักไสไปสู่ป่าเขา พวกเรา 18 คนถูกจับเข้าคุกโดยไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ และห้ามประกันตัวอยู่เกือบหนึ่งปีครั้นคดีความขึ้นศาลทหารเพียงอีกปีเดียวก็พิสูจน์ว่าเราคือผู้บริสุทธิ์ แต่ผู้เข่นฆ่าในนามของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์กลับลอยนวลพ้นผิดไปเช่นเคย

เรารู้ดีว่าการติดคุก เพราะประเทศนี้ ห้ามผู้คนคิดฝันนั้น ก่อให้เกิดแผลบาดลึกขนาดไหนต่อผู้คนทั้งสังคม เราจึงขอให้ผู้ทรงอำนาจในกระบวนการยุติธรรมโปรดตระหนักว่า ท่านมีโอกาสที่จะยุติความโหดร้ายป่าเถื่อนลงเสียที แล้วช่วยกันประคับประคองให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสันติและเจ็บปวดน้อยกว่านี้

ผู้ทรงอำนาจในทุกสถาบันหลักและในกระบวนการยุติธรรมควรมีสายตากว้างไกล อำนวยให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีผู้ถูกทำร้ายในนามของความยุติธรรมปลอม ๆ อีกต่อไป

ไม่ควรทิ้งหลักการเพียงเพื่อตอบสนองความหลงว่าตัวเองสูงส่ง หลงยึดมั่นในอำนาจ หรือเพราะความหวาดกลัว หาไม่แล้วความยุติธรรมบนแผ่นดินนี้ก็จบสิ้น เราจึงเรียกร้องต่อผู้ทรงอำนาจในสถาบันหลักของรัฐและในกระบวนการยุติธรรม โปรดอย่าทำผิดพลาดเช่นที่เคยทำมาอีกเลย เพราะผู้คนกำลังจะสิ้นความเคารพเชื่อถือในทุกสถาบันจนสุดจะกอบกู้ได้อีกต่อไป

คนหนุ่มสาวในขณะนี้ไม่ได้ต้องการโค่นล้มสถาบันหลักใด ๆ เขาป่าวประกาศความฝันว่าทุกสถาบันต้องปรับตัว เขาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่ออนาคตของคนทั้งประเทศ แต่ความซื่อตรงไม่มีสอพลอ กลับกลายเป็นการดูหมิ่น เป็นอาชญากรรมในสายตาของคนเขลาและคนหน้าไหว้หลังหลอกที่โหนเจ้าหาอำนาจ

คนหนุ่มสาวที่ถูกกุมขังไม่ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยซ้ำไป เขาขอเพียงสิทธิประกันตัวด้วยถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ เขาขอเพียงได้ต่อสู้คดีอย่างยุติธรรม

เพื่อยืนยันว่าการประกาศฝันถึงวันพรุ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่อาชญากรรม ใครที่ถือว่าความฝันของคนหนุ่มสาวเป็นภัยต่อความมั่นคง เท่ากับเขายอมรับว่าสถาบันหลักของไทยง่อนแง่นเต็มที แต่แทนที่จะปลูกศรัทธาให้กลับมาใหม่ กลับใช้อำนาจและกฎหมายเข้าปราบปรามอย่างป่าเถื่อน

ดังนั้นหากยังทำเช่นนี้ต่อไปอีก ประวัติศาสตร์จะจารึกว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีส่วนสำคัญในอัตวินิบาตกรรมของสถาบันนั้น

อย่าให้ผู้คนโจษขานว่าตุลาการไทยไร้หลักกฎหมาย รับใช้อำนาจอยุติธรรมอย่างไร้อิสระ ไร้ศักดิ์ศรี และไร้น้ำยา เป็นแค่เครื่องใช้ไม้สอยของอำนาจไว้บังคับให้ราษฎรหมอบคลาน เป็นผู้ใหญ่ที่โหดร้ายรังแกเด็ก

ถ้าหากยังปฏิเสธสิทธิการประกันตัวของคนหนุ่มสาวเหล่านั้น โปรดระวังให้ดีว่าพวกเขาจะออกมาจากคุกในเร็ววันพร้อม ๆ กับการพังทลายของสถาบันหลักทั้งหลาย เพราะผู้คนสิ้นศรัทธากับสถาบันเหล่านั้นและกระบวนการยุติธรรม

เพราะคนที่มิใช่ทาสมีธรรมชาติต้องยืนตัวตรง ความอดทนของเขาต่อการถูกบังคับให้หมอบคลานใกล้จะหมดแล้ว และถ้าจะเป็นเช่นนั้น อย่าโทษคนหนุ่มสาวว่ากระทำผิดซ้ำซาก เพราะผู้มีอำนาจเองต่างหากที่ดื้อรั้นกระทำผิดซ้ำซากอย่างไม่น่าเชื่อว่าท่านผู้ทรงเกียรติจะคิดสั้น ๆ และใจมืดบอดถึงเพียงนั้น

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ความเห็นต่อประเด็นแก้ไขรวมถึงยกเลิก ม.112 ว่า

การที่พวกเรามาในวันนี้เพราะเราเป็นผู้ที่เคยถูกกระทำมาในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งมีทั้งการใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปราม เข่นฆ่า และใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ต่อนักศึกษาเมื่อ 40 กว่าปีก่อนจนก่อเกิดเป็นความขัดแย้งและเป็นบาดแผลของสังคมไทย

“เราก็ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก”

นักศึกษาเยาวชนในขณะนี้มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ที่เขาต้องการเห็นสังคมที่ดีงาม ทางออกที่ดีที่สุดก็คือถ้าต้องมีการดำเนินคดีก็ควรจะเป็นไปตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และให้ความเป็นธรรมโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชน ตลอดจนต้องให้มีการหารือกันพูดจากัน

แต่ขณะนี้มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาและประชาชนเหล่านั้น หนึ่งในนั้นคือมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งเนื้อหา สาระ และการบังคับใช้ ตั้งแต่ขั้นตอนของการดำเนินคดีที่จะกำหนดว่าใครเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้, การตั้งข้อหา, การไม่ให้ประกันตัว, การดำเนินคดีที่ใช้เวลายาวนาน และทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งมีการใช้ข้อหานี้ในทางกลั่นแกล้งทำลายผู้ที่เห็นต่างหรือศัตรูคู่แข่งทางการเมืองอยู่เป็นประจำ

ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดองในสังคม ไม่เป็นผลดีแม้แต่ต่อการที่จะทำให้สถาบันเกิดความมั่นคง ที่สำคัญทั้งกระบวนการเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้ก็ควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายและประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม

ซึ่งการเรียกร้องของนักศึกษาที่ขอให้ยกเลิกมาตรา 112 และมีพรรคการเมืองเสนอเรื่องนี้กันอยู่ ผมคิดว่าการเสนอแก้กฎหมายนี้ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และทางออกในเรื่องนี้ก็คือให้รัฐสภาพิจารณาไปตามกระบวนการของรัฐสภา ได้ข้อยุติอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

ถึงเวลาถ้าได้ข้อยุติแล้ว แต่พรรคการเมืองหรือประชาชนยังต้องการเสนอต่อไปอีก ก็สามารถทำได้ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ควรไปตัดตอนหรือไปห้ามด้วยเหตุผลว่าข้อเสนอหรือร่างแก้ไขกฎหมายเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาว่าร่างกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เขามีขั้นตอนอยู่แล้ว คือหลังรัฐสภาพิจารณาเสร็จก็จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่พิจารณาตั้งแต่ต้นตอนที่เข้าสภา

ขณะที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การมาเป็นนายประกันให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ถือเป็นความจำเป็นทางใจ เพราะในเมื่อลูกศิษย์ดำเนินการในนี้หรือผลักดันการแก้ไขยกเลิกมาตรา 112 มาถึงขั้นนี้ได้ หากตนและคนอื่นๆ เฉยๆจะถือเป็นสิ่งที่น่าละอายโดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นอาจารย์ ซึ่งอายุมากแล้ว จะอยู่ได้นานแค่ไหน จึงไม่จำเป็นจะต้องคิดมากที่จะต้องมาประกันตัวลูกศิษย์ และเห็นว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าคนเหล่านี้ที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ ถ้ารักษาชีวิตและหลักการเอาไว้ได้ ก็จะเป็นผู้นำของประเทศชาติ

ฉะนั้น ในแง่ของหลักนิติธรรมหลักนิติรัฐ จึงต้องการให้ฝ่ายตุลาการผู้พิพากษาเคารพต่อหลักการนี้ ซึ่งคณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก็สอนไว้อย่างนี้ ดังนั้น ส่วนตัวหรือความจำเป็นที่จะต้องยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์สังคมไทยโดยรวม