เปิดมุมมองอาจารย์สาว อดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ชี้ค่านิยมย่อมมีวันหมดสมัย!

อาจารย์สาว-อดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เปิดใจ กรณีการยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ชี้ชัด เด็กรุ่นใหม่มีความตระหนักรู้-สังคมเดินหน้ามาไกล

จากกรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม เกิดประเด็กถกเถียงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Jay Pattajit Tangsinmunkong” ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นและเป็นอดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 64 ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยมีเนื้อความคร่าว ๆ ว่า รู้สึกยินดีกับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มาไกลจากเดิม เพราะสมัยที่ตนไปคัดเลือก ตอนนั้นยังไม่ทันคิดว่านี่คือเครื่องสะท้อนและเป็นการผลิตซ้ำระบอบอำนาจนิยม มองว่าเป็นเพียงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ขอบคุณที่มา FB Jay Pattajit Tangsinmunkong

ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า รู้สึกดีใจที่เห็นจุฬาก้าวหน้า นิสิต อบจ. มีความคิดและความตระหนักรู้ต่อสังคม พร้อมกับนับถือในความกล้ามากมาย ทั้งกล้าที่จะตั้งคำถาม กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า มีความเสี่ยงสูงในการเจอแรงต้าน

ตนหวังว่าสิ่งนี้จะแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยและสังคมไทยได้เดินหน้ามาไกลแล้ว ทุกค่านิยมย่อมมีวันหมดสมัย เมื่อหมดสมัยแล้วควรถูกปฏิรูปหรือแทนที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ก่อนที่ค่านิยมล้าหลังเหล่านั้นจะกลายเป็นโซ่ยึดติดตัวเองกับอดีต (อ่านข้อความเต็ม คลิก)

ขอบคุณที่มา FB Jay Pattajit Tangsinmunkong

พร้อมอัพเดตเพิ่มเติมว่า ได้แสดงความเห็นในมุมมองอดีตผู้อัญเชิญไปแล้ว ขอแสดงความเห็นในฐานะศิษย์เก่าและอาจารย์มหาลัยบ้าง ซึ่งตนมองว่าประเด็นดราม่าที่เหล่าอาจารย์และศิษย์เก่าออกมาต่อต้าน สิ่งที่ควรยกออกมาถกเถียงจริง ๆ คือ เรื่องของ คุณค่าและความหมายของ “มหาวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยควรเป็นชุมชนที่ให้นิสิตนักศึกษาได้ลองตั้งคำถาม สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้ลองผิดลองถูก หล่อหลอมให้เติบโตก่อนจะเข้าสู่สังคมการทำงาน

สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ทำอยู่คือการแก้โจทย์ แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมของคนแต่ละตำแหน่งในขบวนทั้ง ๆ ที่ทุกคนเป็นนิสิตจุฬา ฯ เท่า ๆ กัน การยกเลิกขบวนไม่ได้มีความหมายใหญ่โตไปถึงการด้อยค่าผู้ก่อตั้งสถาบัน และไม่ควรมีนัยยะที่สื่อไปถึงการลบหลู่ศักดิ์ศรีของจุฬาฯ

ขอบคุณที่มา FB Jay Pattajit Tangsinmunkong

การรักและเคารพสถาบันควรก้าวข้ามรูปแบบว่าเราจะ “สักการะ” และเชิดชูตราของมหาวิทยาลัยอย่างไร แต่มันคือเราจะใช้ความรู้ประสบการณ์ที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ และโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้นอย่างไร

สังคมวิวัฒนาการมาถึงจุดนี้ได้ เพราะความกล้าที่จะตั้งคำถามต่อขนบอันเก่าแก่ กล้าหักล้างทฤษฎีเก่าและเสนอไอเดียใหม่ อีกอย่างคำนิยามของ “วัฒนธรรม” คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ผลผลิตของมนุษย์แต่ละยุคสมัย แปลว่า สามารถนำมาปรับเปลี่ยน รื้อถอน หรือ กลับมาทำซ้ำได้ สิ่งที่ศิษย์เก่าควรกระทำ คือ ปล่อยให้มันเป็นฉันทามติของชุมชนมหาวิทยาลัยแต่ละยุคสมัยได้ตัดสินและเรียนรู้กันเองต่างหาก (อ่านฉบับเต็ม คลิก )