ศบค. แจง เปิดประเทศ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตอบปม 17 จว.นำร่องยังพบติดเชื้อ

ศบค. แจง เปิดประเทศ 1 พ.ย. เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เปิดทั้งหมด เที่ยวบินทยอยเปิด ส่วน 17 จังหวัดนำร่องยังมีติดเชื้อ ประเมินความพร้อมหลายด้าน

วันที่ 25 ต.ค.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า เกณฑ์การเปิดประเทศของ ศบค. นายกฯ ลงนามเรียบร้อย มีคำถามหลายด้าน ประชาชนไม่มั่นใจกลัวว่ายังมีรายงานผู้ติดเชื้อ สถานการณ์ลดลงไม่มากเท่าที่ควรจะเปิดประเทศได้หรือไม่ ซึ่งการเปิดประเทศของเรามีประเทศที่อนุญาตให้ไม่ต้องกักตัว 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งขึ้นกับประเทศต้นทางด้วย เราอนุญาตให้เข้าได้ แต่บางประเทศยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ต้องจำกัดเที่ยวบิน การเดินทางยังไม่เปิดโดยเสรีเหมือนก่อนการแพร่ระบาด เน้นย้ำเสมอให้ประชาชนมั่นใจว่าเป็นไปภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขรองรับได้ การเปิดต้องเป็นแบบค่อยเป็นไปค่อยไป

“การเดินทางต้องเดินทางมาทางอากาศ การเปิดเที่ยวบินก็ต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งสำคัญคือการเพิ่มเป็น 45 ประเทศ เพื่อคำนึงถึงคนไทยกลับบ้านด้วย ต้องการให้คนกลับเข้าประเทศไทยยกเว้นการกักตัว และก่อนกลับต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก่อนเดินทาง 14 วัน ตรวจ RT-PCR ไม่พบเชื้อ 72 ชั่วโมงก่อนบิน และมีหลักประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญ ยกเว้นคนไทย” พญงอภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า พื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ถ้าการติดเชื้อยังสูงอยู่จะเปิดได้ไหม ชะลอหรือไม่ ส่วนหนึ่งทางสาธารณสุขมีการประเมินด้วยเกณฑ์หลายด้าน จังหวัดไหนจะมีความพร้อมเปิดได้เปิดไม่ได้ คงไม่ได้พิจารณาแค่รายงานตัวเลขติดเชื้อ ดูการครอบคลุมวัคซีนพื้นที่นั้น อัตราตายและป่วยหนัก เพื่อประเมินระบบสาธารณสุขพื้นที่นั้นรองรับมีประสิทธิภาพหรือไม่

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า หากพบการติดเชื้อแพร่ระบาดกลุ่มก้อน สธ.มีเกณฑ์ประเมินมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ เช่น เพชรบูรณ์ ถูกปรับระดับจากสีแดงเข้มเป็นสีแดง เมื่อเกิดกรณีระบาดขึ้น ผู้ว่าฯ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประกาศปิดภูทับเบิกใน 2 อำเภอ ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เพชรบูรณ์จำกัดวงติดเชื้อไม่ให้กระจายพื้นที่อื่น เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 24 ข้อ 5 ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่ากทม. คณะกรรมการโรคติดต่อ สามารถพิจารณาปรับพื้นที่ย่อยให้เข้มกว่าพื้นที่โดยรวมได้

“แต่พื้นที่นำร่องสีฟ้า หากดูรายละเอียด ถ้ามีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น จังหวัดจะมีแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หากต้องชะลอการเปิดเมือง จนถึงหยุดดำเนินการจนกว่าจะควบคุมได้ ทั้ง 17 จังหวัดต้องมีการเสนอแผนเผชิญเหตุดังกล่าว และที่เสนอ ศบค.มาถือว่าสมเหตุสมผล เพราะว่าการเปิดเป็นบางพื้นที่ ค่อยเป็นค่อยไป ทยอยเปิด” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ตอนเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เปิดทั้งจังหวัดเพราะเป็นเกาะ แต่สุราษฎร์ธานี เลือกเปิดเฉพาะเกาะสมุย พงัน เกาะเต่า พังงาเปิดเขาหลักและเกาะยาว ดังนั้นวันที่ 1 พ.ย. ก็จะเป็นการเปิดเฉพาะพื้นที่ เพชรบุรี เป็นชะอำ ชลบุรี บางละมุง ประจวบคีรีขันธ์เฉพาะหัวหิน หรือเชียงใหม่ ที่เสนอเข้ามาคือ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า การเลือกพื้นที่นำร่องไม่ได้มาจาก สธ.เลือก เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง กระทรวงการท่องเที่ยวและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ รัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สมาคมต่าง ๆ หอการค้า มีการประเมินตนเองก่อนหน้านี้

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าใจหลักการและร่วมมือกับมาตรการ COVID Free Setting ให้บริการกิจการกิจกรรมปลอดโควิด เปิดโดยมีเงื่้อนไประชาชนในพื้นที่นำร่องสีฟ้าอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ค่อยขยับ ให้เร่งระดมรับวัคซีน โดยเฉพาะอำเภอนำร่องท่องเที่ยว ต้องมีความครอบคลุมในอำเภอนั้น 80% ส่วนทั้งจังหวัดต้องครอบคลุม 50% ส่วนพื้นที่เกิน 50% ไปแล้ว เช่น กทม.ขอให้ขยับเป้าหมายขึ้นอีก วัคซีนมีเพียงพอ กรมควบคุมโรคจะเร่งส่งวัคซีนให้เพียงพอ ทันต่อ 17 จังหวัดจะเปิดบ้านเปิดเมือง และสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งไปแล้ว 7 แสนโดส ขอให้เร่งฉีดประชาชน และลงใน MOPH IC ด้วย เพื่อประเมินและส่งวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

มาตรการ COVID Free Setting มีคำถามว่าผู้ให้บริการปฏิเสธผู้รับบริการที่ยังไม่ฉีดวัคซีน กฎเกณฑ์นี้ทำได้หรือไม่ อันนี้ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือขั้นสูงสุด ถ้าผู้ประกอบการละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการ พนักงานและลูกค้าจะเกิดความเสี่ยง มาตรการนี้มี 3 องค์ประกอบ อันแรกที่ทำได้ง่าย คือ จัดสถานที่ เว้นระยะห่าง ปรับการระบายอากาศ ส่วนเรื่องพนักงานจัดให้ฉีดวัคซีนครบ จัดอุปกรณ์ตรวจ ATK เป็นระยะ

ส่วนผู้รับบริการจำเป้นต้องขอความร่วมมือ ถ้าทยอยทำได้มากขึ้นเร็วขึ้น จะเกิดความมั่นใจทั้งผู้ให้และรับบริการจะปลอดภัย แต่เมื่อเป็นวิถีใหม่ต้องให้เวลา ประชาชนต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ปรับตัว บางครั้งสถานประกอบการเข้มงวดเป็นสิ่งที่ดี แต่ยืดหยุ่นได้ บางร้านอาหารจัดโซนถ้ารับวัคซีนครบ มีผลตรวจ ATK เข้ามาในร้านนั่งในโซนไหน ไม่ได้รับวัคซีนนั่งในโซนไหน ต้องให้เวลาประชาชนปรับตัว