‘อังคณา’ มอง 17 ปี เหตุการณ์ตากใบ ยังไร้คำตอบผู้ทำผิด-รับผิดชอบ

17 ปีตากใบ ไร้คำตอบผู้กระทำผิด-รับผิดชอบ ‘อังคณา’ หวังไทยทบทวนระบบยุติธรรม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน

นางอังคณาระบุว่า 17 ปีโศกนาฏกรรมตากใบ : 17YearTakbaiTragedy ความไร้ยางอายในการรับผิดของรัฐ รัฐทหาร

ตุลาคม เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งนับแต่อดีต และมีสิ่งหนึ่งที่เหยื่อ ครอบครัว รวมถึงสังคมเรียกร้องมาตลอด คือการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลและคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหาย การรักษาความทรงจำของเหยื่อ แม้จะเป็นความทรงจำของบาดแผลที่เจ็บปวด (traumatic memory) แต่การรักษาความทรงจำถือเป็นการส่วนหนึ่งในการเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชน และเพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิด

“17 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่จังหวัดนราธิวาส ปีนั้นตรงกับเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ในวันนั้น ผู้ชายหลายคนออกจากบ้านเพื่อซื้ออาหารเตรียมละศีลอด เด็กหนุ่มหลายคนออกไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แม่ หรือคนรัก เพื่อใส่ในวันรายอที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน แต่หลายคนกลับถึงบ้านในเย็นวันรุ่งขึ้นในสภาพที่ปราศจากลมหายใจ หลายคนบาดเจ็บ หลายคนพิการ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ผ่านมา 17 ปีแล้วยังไม่มีใครได้พบเห็น และพวกเขากลายเป็นบุคคลสาบสูญ และไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย

“17 ปีผ่านไป แต่ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนจำนวนมาก ภาพของชายชาวมลายูมุสลิมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ภาพการขนย้ายประชาชนโดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธควบคุมอยู่ท้ายรถโดยไม่ฟังเสียงร้องคร่ำครวญของคนที่ถูกกดทับที่อยู่ชั้นล่างของรถ จนหลายคนเสียชีวิตก่อนถึงจุดหมายปลายทาง

“แม้ที่ผ่านมา พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะได้ออกมากล่าวคำขอโทษพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ให้การชดใช้เยียวยาด้านการเงินแก่ญาติผู้เสียชีวิต ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น

“แต่ผ่านมา 17 ปี ยังคงไม่มีคำตอบว่าใครคือผู้กระทำผิด และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และการหายสาบสูญของประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่

แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

“ภายหลังเหตุการณ์ตากใบ บรรดาญาติผู้เสียชีวิตและชาวบ้านตากใบได้สิทธิทางศาลเพื่อหาความยุติธรรม อย่างไรก็ดี พบว่าคดีทั้งหมดยุติลงโดยการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ทั้งที่อัยการมีหน้าที่ต้องปกป้องความยุติธรรมแทนผู้เสียหาย และคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว โดยคดีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคือ

“(1) คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน) ในข้อหายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย แต่ต่อมาอัยการได้ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า ‘…การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ’

“(2) สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จำนวน 7 คน ซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปว่าไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด

“(3) สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คน จากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมของเจ้าหน้าที่ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 ปรากฏว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ‘สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่’ ทำให้ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นมีความเห็นพ้องกับอัยการ ทำให้คดีถึงที่สุด

“ในขณะที่ญาติผู้เสียหายต่างมีความหวาดกลัวอย่างมาก หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะ ‘อัยการ’ จึงเป็นความหวังของเหยื่อและครอบครัวในการทวงถามความเป็นธรรมแทนประชาชน การสั่งไม่ฟ้องของอัยการจึงถือเป็นความล้มเหลว และความไม่รับผิดชอบของกระบวนการยุติธรรมไทย

“ในโอกาสครบ 17 ปี เหตุการณ์ตากใบ ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนระบบยุติธรรมไทย โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก และเพื่อคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว ทั้งนี้ตามหลักอายุความคดีอาญามีอายุความ 20 ปี กรณีตากใบเราจึงมีเวลาอีก 3 ปี ในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการเปิดเผยความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกละเมิด และคืนศักดิ์ศรีให้คนมลายูมุสลิมใน จชต.

“การสลายการชุมนุมตากใบจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมากถือเป็น อาชญากรรมโดยรัฐ (State Crime) และ รัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้ประชนชน ซึ่งถือเป็นการเยียวยาด้านตุลาการ (judicial remedy) และเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัว การนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) จะนำไปสู่การเปิดเผยความจริง และนำไปสู่ความพร้อมรับผิด (accountability) และยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ (Cultural of Impunity)

“25 ตุลาคมปีนี้ชาวบ้านตากใบและชาวบ้านใกล้เคียงจะมารวมตัวกันเพื่อละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต และเพื่อรักษาความทรงจำต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอดีต ในโอกาส 17 ปีตากใบ ดิฉันอยากเห็น ความกล้าหาญทางจริยธรรม ในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมของระบบยุติธรรมไทย อยากเห็นความกล้าหาญในการพร้อมรับผิดของผู้กระทำผิด และเปิดเผยความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อปลดพันธนาการจากความคลุมเครือ และเพื่อยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ

“ผ่านมา 17 ปี รัฐไม่เคยมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ในการรับผิดต่ออาชญากรรมโดยรัฐ (State Crime) แม้รัฐบาลพลเรือนจะพยายามเยียวยาความเสียหายทางการเงินแก่ครอบครัว แต่ไม่มีรัฐบาลใดจะยอมรับความผิดที่เกิดขึ้นโดยการนำคนผิดมาลงโทษ และคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายและครอบครัว แม้รัฐบาลจะอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอิสระ แต่กระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่เคยละอายแก่ใจที่ไม่สามารถนำคนผิดกรณีอาชญากรรมโดยรัฐมาลงโทษได้จริง และยังคงปล่อยให้ผู้กระทำผิดคงลอยนวลจนถึงทุกวันนี้

“การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบในปีที่ 17 จึงมีความหมายอย่างยิ่งทั้งต่อเหยื่อและครอบครัว เพราะจะเป็นการส่งสารไปถึงบรรดาผู้มีอำนาจว่าชาวตากใบยังคงเก็บรักษาความทรงจำที่ขมขื่น และรอคอยความยุติธรรม โดยย้ำเตือนบรรดาผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยไม่ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในคุณค่าและศักดิ์ศรีนั้น”