‘ก้าวไกล’ ผนึกกำลัง ‘ส้มจี๊ด’ ผลักดันวิสาหกิจชุมชน ผุดแปรรูปแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

“พรรคก้าวไกล” ลงพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมผนึกกำลัง “ส้มจี๊ด เครือข่ายธุรกิจเพื่อชุมชน” ผลักดันวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

วันที่ 24 ตุลาคม ​2564 พิธา​ ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล​ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ผู้บริหารส้มจี๊ด เครือข่ายธุรกิจเพื่อชุมชน ร่วมพูดคุยกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปี ตำบลยางค้อม อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังและร่วมแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ

พิธาให้ความเห็นว่าระบบราชการของเราล้าหลังจนเกินไป ในต่างประเทศรัฐบาลและหน่วยงานราชการมีส่วนสำคัญในการผลักดันและยกระดับการประกอบธุรกิจของชุมชน แต่สำหรับประเทศไทยเรากลับพบว่าหน่วยงานราชการกลับเป็นเหมือนเครื่องกีดขวางการประกอบธุรกิจเสียมากกว่า “รัฐราชการรวมศูนย์ทำให้ เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ทำงานตอบสนองต่อกระทรวงที่กรุงเทพฯ แทนที่จะเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองต่อเกษตรกรในพื้นที่ ไม่นับรวมกับนโยบายการส่งเสริมต่างๆ ของภาครัฐที่อิงกับระบบอุปถัมภ์สูงมาก โครงการสนับสนุนต่างๆ ของรัฐมักจะลงเอยด้วยการสนับสนุนกลุ่มคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจแทนที่จะเป็นประชาชนทั่วไปจริงๆ”

นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ผู้บริหารเครือข่ายส้มจี๊ด กล่าวเสริมว่า “คนที่ไม่มีเส้นสาย ยากที่จะได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาอย่างจริงจังจากภาครัฐ และหากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย ก็จะไม่มีเครื่องจักรเพื่อยกระดับการผลิต สุดท้ายจึงต้องใช้กำลังคนในการผลิตซึ่งก็นับว่าน่าเสียดายมากๆ เพราะหลายธุรกิจเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ อย่างกรณีไวน์มังคุด แยมมังคุด มังคุดกวนของที่นี่ก็ยังต้องทำต้องกวนด้วยมือกันอยู่เลย”

พิธาให้ความเห็นปิดท้ายว่ารัฐบาลไทยมองมังคุดเป็นเพียงผลไม้ที่ขายกันในราคากิโลกรัมละ 30 บาท
ส่วนต่างประเทศมองไปไกลกว่านั้น พวกเขานำเข้ามังคุดแล้วนำไปทำเป็นสารสกัด Xanthone ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางแล้วส่งกลับมาขายที่ประเทศไทย

“เรามองว่ามังคุดเป็นราชินีผลไม้แต่กลับมีราคาแค่กิโลกรัมละ 30 บาท หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์และความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้มีการแปรรูปและพัฒนามูลค่าสินค้าเกษตร เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าแค่การขายเป็นผลไม้เพียงอย่างเดียวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาไปในทางนี้ได้รัฐต้องมีความจริงจังและจริงใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องจัดสรรงบประมาณให้กับแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขาได้กำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวของเขาเองแล้ว รัฐส่วนกลางก็ต้องกระจายอำนาจที่ตอนนี้รวมศูนย์ทุกการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลางกลับไปให้ท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขาได้กำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเองอีกด้วย” พิธา กล่าว