“ประวิตร” รับทราบข้อหาแล้วหลังโพสต์วิจารณ์ คสช. ท่ามกลาง จนท.สถานทูตหลายประเทศร่วมสังเกตการณ์

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ กองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาความผิดในมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ ซึ่งคาดว่าเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.

โดยการเข้าพบครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตประเทศต่างๆ อาทิ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา อังกฤษ นอร์เวย์ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ คณกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ ไอลอว์ร่วมสังเกตการณ์

ด้านนางสาวเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ทนายความสิทธิมนุษยชนของนายประวิตรเปิดเผยว่า มาตรา 116 นั้นโทษสูงสุดคือ 7 ปี และข้อหาที่คุณประวิตรโดน 5 กรรม รวมกันเป็น 35 ปี แต่ในกรณีนี้มันจะมีความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายอาญามันมีบทกำหนดว่าหากการกระทำเดียวกันแต่ผิดหลายบท ให้เอาบทหนักสุดคือ ม.116 และต้องรวมกันแล้วต้องได้รับโทษไม่เกิน 20 ปี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า เป็นการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากนั้นสอบปากคำก่อนปล่อยตัวไป

นายประวิตรกล่าวว่า วันนี้ตนจะทราบว่าข้อความที่เข้าข่ายความผิดคือข้อความไหน ซึ่งคาดว่าโดยรวมน่าจะวิจารณ์ คสช. ตนขอยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ผมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.อย่างสุดใจ เสรีภาพนั้นจะไม่สามารถปกป้องได้ หากไม่พร้อมที่จ่ายมันด้วยราคาที่มาก ในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองและสื่อ ก็จะต้องแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกอันน้อยนิดในสังคมไทย

จากนั้น นายประวิตรพร้อมด้วยทนายความได้เดินเข้าไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบปากคำ โดยมีเจ้าหน้าที่จากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมรับฟังการสอบปากคำ

ขณะที่ ไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนายประวิตร หลังจากที่ยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกัยคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น