ถดถอยหนัก! “ชูศักดิ์” ชี้ “ไพบูลย์โมเดล” ไม่ควรเป็นบรรทัดฐานการเมืองไทย

“ชูศักดิ์” ยก 3 ข้อเห็นต่างศาลรธน. อัด “ไพบูลย์โมเดล” ไม่ควรเป็นบรรทัดฐาน ชี้เป็นความล้มเหลวถดถอยปฏิรูปการเมือง ฝากถึงพรรคเล็กควรนึกถึงเสียง ปชช.ที่เลือกเรามา

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ จากกรณีที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสุดสภาพความเป็นพรรคการเมืองเพราะเหตุคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติให้เลิกพรรคการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่สิ้นสุดลงนั้น

ตนขอให้ความเห็นในเชิงวิชาการและมุมมองต่อการปฏิรูปการเมืองไทย เมื่อได้อ่านสาระสำคัญของคำวินิจฉัยซึ่งไม่เป็นเอกฉันท์แล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในบางประเด็นโดยเฉพาะประเด็นสำคัญ คือการที่พรรคประชาชนปฏิรูปเลิกพรรคการเมืองของตนตามข้อบังคับพรรคและนายไพบูลย์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคและเป็น ส.ส.ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐได้ ซึ่งศาลเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรค และเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น น่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 1.รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติถึงเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยกำหนดว่ากฎหมายพรรคการเมืองจะต้องกำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัคร กฎหมายพรรคการเมืองจึงได้กำหนดการมีส่วนของสมาชิกพรรคตั้งแต่การที่ต้องมีผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 500 คน การจะต้องมีสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด การส่งผู้สมัครจะต้องผ่านกระบวนการไพรมารีโหวต การประชุมใหญ่ของพรรคจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 250 คน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดถือว่าได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ

แต่ข้อเท็จจริงของการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปนั้น ทำโดยกรรมการบริหารพรรคเพียง 16 คนจากทั้งหมด 24 คน โดยสมาชิกพรรคที่เสียค่าบำรุงพรรคและช่วยกันรณรงค์หาเสียง เพราะยึดมั่นในนโยบายและอุดมการณ์ของพรรค กลับไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย ตนจึงเห็นว่าข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป ที่กำหนดให้พรรคเลิกกันโดยให้อำนาจคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีมติเลิกพรรคการเมืองนั้น น่าจะไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 2.เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 96 มาตรา 97 และมาตรา 98 ที่กำหนดห้ามมิให้มีการควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาฯ และการควบรวมพรรคการเมือง จะทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่เท่านั้น นอกจากนี้การควบรวมพรรคการเมืองจะต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่าที่กฎหมายห้ามมิให้มีการควบรวมพรรคการเมืองระหว่างอายุของสภาฯ ก็เพื่อป้องกันปัญหาที่จะมีการซื้อตัว ส.ส.หรือการย้ายข้างทางการเมืองอันจะทำให้เกิดปัญหาในสภาฯ และการควบรวมพรรคยังต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสาขาและตัวแทนสมาชิก

แสดงว่าหากจะเลิกพรรคการเมืองก็ควรจะให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน เพราะเขามีส่วนร่วมในการตั้งพรรคมา การตีความกฎหมายจึงต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายด้วย แม้การเลิกกันของพรรคประชาชนปฏิรูปจะมิใช่เป็นการควบรวมพรรคการเมืองโดยตรง แต่ผลของการกระทำก็ไม่แตกต่างกัน คือการเลิกพรรคของตนเพื่อไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่น

ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำเช่นนี้ทำได้ ต่อไปก็จะมีพรรคการเมืองอื่นใช้วิธีการเลิกพรรคตนเอง และก็ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นหมด ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ได้ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองเลย แต่เปิดช่องให้พรรคการเมืองหาข้ออ้างเพื่อเลิกพรรคตนเอง และหันไปซบพรรคที่มีอำนาจทางการเมืองแทน อันเป็นการถดถอยของระบบพรรคการเมือง

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า 3.เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. ในกรณีที่พรรคที่ตนสังกัดถูกยุบสามารถไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนั้น ก็เพื่อคุ้มครอง ส.ส.ที่ไม่มีส่วนรับรู้ถึงการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคด้วย เพื่อให้คงสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ต่อไป เช่นเดียวกับเหตุของการกระทำที่ทำให้พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 91 (1) ถึง (6) ก็ไม่ใช่เกิดจากการกระทำส่วนตัวของ ส.ส.ผู้นั้น

แต่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายของพรรค ส่วนตาม (7) ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเลิกกันตามข้อบังคับพรรคนั้น ข้อบังคับก็ต้องกำหนดให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมาย มิใช่กำหนดให้พรรคสามารถเลิกกันได้เพียงแค่มติคณะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น ซึ่งการเลิกกันของพรรคประชาชนปฏิรูปเกิดจากการริเริ่มของกรรมการบริหารพรรคเพียง 16 คน จึงน่าแปลกใจว่าการเลิกพรรคเช่นนี้ โดยที่สมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย ทำได้หรือ

จริงอยู่ พรป.พรรคการเมืองเขียนไว้สั้นๆว่าการเลิกพรรคการเมืองให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค พรรคประชาชนปฏิรูปก็เขียนไว้ว่าเลิกพรรคได้โดยมติกรรมการบริหาร ต่างจากข้อบังคับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ให้ทำโดยที่ประชุมใหญ่ ศาลรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายข้างมากจึงวินิจฉัยว่าการเลิกพรรคเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับพรรค แต่ก็ควรต้องพิจารณาโดยถ่องแท้ว่าถูกต้องชอบธรรมเหมาะสมแล้วหรือ

“ดังนั้นแม้โดยกฎหมายเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเช่นนี้แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นที่สุด แต่คิดว่าประเด็นนี้จะสร้างบรรทัดฐานในทางลบให้กับระบบพรรคการเมืองในโอกาสต่อไป ผมขอฝากไปยังพรรคการเมืองทั้งหลายให้คิดถึงสมาชิก ที่เขาชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ อุตส่าห์สมัครเป็นสมาชิก เสียค่าสมาชิก ในที่สุดพรรคเราก็เลิกกันโดยไม่ถามเราเลยแม้แต่น้อย” นายชูศักดิ์ กล่าว