“พิธา” ฟาดรัฐบาลไทยไร้จุดยืน ปมรัฐบาลทหารพม่า ทำการทูตไทยตกต่ำ

‘พิธา’ซัดท่าทีรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลทหารพม่า ทำการทูตไทยตกต่ำ ไร้ที่ยืนบนเวทีโลก

‘พิธา’ซัดท่าทีรัฐบาลไทยต่อ รัฐบาลทหารพม่า ทำการทูตไทยตกต่ำ ไร้ที่ยืนบนเวทีโลก ลั่น หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะเปลี่ยนจุดยืนกรณีรัฐบาลทหารพม่า

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.และ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่องบทบาทการต่างประเทศของไทยต่อประเด็นการสังหารประชาชนและการรัฐประหารในเมียนมา โดย ระบุว่า

รัฐบาล ไร้จุดยืน ไร้น้ำหนัก ไร้ราคา ในเรื่องเมียนมา หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะทวงคืนศักดิ์ศรีการต่างประเทศไทย

เมื่อวานนี้ หรือวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ผมได้ร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศไทย ในงานเสวนา “ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มพลังประเทศไทยในเวทีโลก” ในหัวข้อ “บทบาทการทูตและการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน” จัดโดย มูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ThaiPBS และ Asia News Network

ผมได้พูดถึงใจกลางของปัญหาการสูญเสียบทบาทของไทยในเวทีโลกว่า ไม่ใช่เพราะนักการทูตไทยไม่มีความสามารถ ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้กฎหมาย ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้ protocol แต่เป็นเพราะเราไม่มีผู้นำทางการเมืองที่มีกระดูกสันหลังที่จะสามารถยืนตัวตรงบนหลักการสากลของความถูกต้องบนเวทีโลก หรือสรุปสั้นๆ ได้ว่า ‘เพราะเราไม่มีจุดยืน เราจึงไม่มีที่ยืนในเวทีโลก’

โดยวิธีคิดของผู้นำทางการเมืองไทยที่เชื่อว่าเราจะมีที่ยืนในเวทีโลกเราต้องประนีประนอมโอนอ่อนผ่อนตามกับทุกคน แต่พอประเทศของเราไม่มีหลักการ คำพูดและการกระทำของไทยจึง ไม่มีจุดยืน ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีราคา ตัวอย่างเช่น การแสดงจุดยืนของไทยต่อการที่อาเซียนจะไม่เชิญผู้นำพม่าเข้าประชุมผู้นำอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยได้กล่าวว่า “ไม่มีปัญหา แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน” สวนทางกับ 5 ชาติอาเซียน ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ยืนยันว่าไม่ต้องการให้ผู้นำพม่าเข้าประชุม เนื่องจากฉันทามติ 5 ข้อในการหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงในพม่าไม่มีความคืบหน้า

ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะทวงคืนศักดิ์ศรีของการต่างประเทศไทย โดยจะทำการทูตแบบยืนหลังตรงพม่า กดดันพม่าให้ยอมเปิด humanitarian corridor ให้องค์กรระหว่างประเทศนำความช่วยเหลือเข้าไปในพม่าเพื่อช่วยผู้พลัดถิ่นในประเทศจากสงครามกว่า 7 แสนคน โดยไม่ผ่านรัฐบาลพม่า สิ่งที่ทำได้ในวันแรกยังรวมไปถึงการยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น ร่าง พ.ร.บ. NGO

“ต้องไม่มีอีกแล้วประเทศไทยที่ไม่แสดงจุดยืนอะไรเลย ตอนที่อาเซียนมีมติไม่เชิญผู้นำทหารพม่าเข้าร่วมประชุมเพราะไม่ทำตามฉันทามติ 5 ข้อ ต้องไม่มีอีกแล้วประเทศไทยที่ไม่ยอมโหวตในมติ non-binding หรือมติที่ไม่ได้มีความผูกพันทางกฎหมายด้วยซ้ำ ของสมัชชา UN เพื่อป้องกันการไหลเวียนของอาวุธเข้าพม่า และต้องไม่มีอีกแล้วครับ ประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรีแอบไปพบรัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งขึ้นมาจากการรัฐประหารที่สนามบิน” พิธา กล่าว