“ก้าวไกล” หารือจีสด้า ติดตามน้ำท่วมจากข้อมูลดาวเทียม “สุรเชษฐ์” ยินดีองค์กรเปิดให้ปชช.เข้าถึง

หารือ GISTDA ‘สุรเชษฐ์’ นำคณะทำงาน ‘ก้าวไกล’ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากฐานข้อมูลดาวเทียม

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วย ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตสะพานสูงและแขวงประเวศ กทม. นิธิกร บุญยกุลเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางบอน และทีมงานพรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปรับฟังข้อมูลและการประเมินสถานการณ์จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำล่าสุดและศึกษารูปแบบการนำเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์มาปรับใช้ในองค์กร
.
สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์น้ำจาก GISTDA เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ 494,174 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี ส่วนภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่น้ำท่วมรวมกันทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ มีพื้นที่นาข้าวของประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 3.5 ล้านไร่ โดยมี 43 จังหวัดได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะนำไปสู่การวางแผนรับมือน้ำท่วมในช่วงสุดท้ายก่อนฝนจะทิ้งช่งเข้าสู่ฤดูหนาว และสามารถจะสามารถนำไปวางแผนการเยียวยาผลกระทบต่อไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
.
“GISTDA ได้จัดทำระบบติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมที่สะท้อนผิวและคำนวณออกมาเป็นพื้นที่ต่างๆ และมีการเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ http://flood.gistda.or.th ขณะเดียวกัน GISTDA ยังมีการทำเว็บไซต์รูปแบบคล้ายคลึงกันอย่างระบบติดตามสถานการณ์การผลิตพืชเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ไฟป่า เป็นต้น”

ในช่วงแลกเปลี่ยนความเห็น สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่องค์กรเผยแพร่ข้อมูลที่รวบรวมไว้เป็น Open data ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อได้อย่างเสรี ซึ่งตรงตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลสนับสนุนมาโดยตลอด และยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการนำข้อมูลมาแสดงในระบบได้ พร้อมเสนอแนะให้องค์กรประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประโยชน์ในการนำข้อมูลจากดาวเทียมที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้ประชาชนรับรู้ถึงความสำคัญมากยิ่งขึ้น
.
ด้าน นิธิกร กล่าวว่า เบื้องต้นทำให้รับรู้ได้ว่า GISTDA มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมหลากหลายดวง เช่น THEOS (ไทยโชต) ดาวเทียมของไทย, sentinel-1, lansat หรือข้อมูลพื้นที่เกษตร โดยได้เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ shapefile, excel, kml ซึ่งแสดงพื้นที่วิเคราะห์น้ำท่วม ให้ดาวน์โหลดได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ ทำให้ผู้ที่สนใจในการแก้ปัญหาหรือการวางแผนต่างๆสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ และในเร็วๆ นี้ จะมีดาวเทียมอีกดวงของไทย “THEOS-2” ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา Application ภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม อีกทั้งจะมีการสร้างดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก 1 ดวง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคตอย่างมาก จึงขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรและหน่วยงานทุกท่าน