รบ.ทหารพม่าปล่อยนักโทษการเมือง หลังโดนอาเซียนไม่เชิญร่วมประชุม หลายสิบคนถูกจับซ้ำ

สื่อของพม่าและกลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังจากรัฐบาลทหารพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน ซึ่งรวมถึงโฆษกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี และดาราตลกชื่อดัง แต่หลายคนกลับถูกจับอีกครั้งหลังได้รับการปล่อยตัว

สื่อทางการเมียนมารายงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมว่า ผู้ที่เข้าร่วมกับการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจและผู้ที่อยู่ในรายชื่อผู้ที่เป็นที่ต้องการตัวมากกว่า 5,600 คนจะได้รับการอภัยโทษ หลังจากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ประกาศว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเขายึดมั่นในสันติภาพและประชาธิปไตย

ด้านนักเคลื่อนไหวบางคนระบุว่า การปล่อยตัวนักโทษดังกล่าวเป็นเพียงแผนสร้างภาพของทหารที่จะสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ หลังจากที่อาเซียนได้ประกาศไม่เชิญผู้แทนฝ่ายการเมืองของเมียนมา ซึ่งหมายถึงตัวพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากสื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีการปล่อยตัวสมาชิกรัฐสภา ผูสื่อข่าว และบุคคลต่างๆ จากเรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้ง รวมถึงเรือนจำในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองเมะทีลา เมืองมะริด และเมืองล่าเสี้ยวทางตอนเหนือของรัฐชาน ก็มีรายงานตามมาว่ามีการจับกุมผู้ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวซ้ำอีกครั้ง

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่ายังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานข่าวนี้ได้ โดยโฆษกของกรมราชทัณฑ์และโฆษกของรัฐบาลทหารพม่ายังไม่ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งติดตามข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับกุมตั้งแต่เกิดเหตุยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่า เมื่อช่วงบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา มีผู้ที่ถูกจับซ้ำหลังเพิ่งได้รับการปล่อยตัวราว 40 คน ขณะที่สื่อท้องถิ่นของเมียนมาก็รายงานว่ามีผู้ที่ถูกจับซ้ำหลายคนเช่นเดียวกัน

ขณะที่ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังมีข่าวการปล่อยตัวนักโทษการเมืองว่า

แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะประกาศให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองกว่า 5,000 คนในวันนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ กองกำลังของรัฐบาลทหารควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้อย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ผู้ถูกคุมขังหลายคนถูกทรมาน บางคนถึงแก่ชีวิต บางคนตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ บางคนติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตขณะอยู่ในสภาพที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัย ทุกคนได้รับความเดือดร้อน; ทุกคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องเลวร้ายที่ทุกคนถูกกักขังโดยพลการตั้งแต่แรก

เห็นได้ชัดว่าการปลดปล่อยพวกเขาไม่ใช่เพราะรัฐบาลทหารได้เปลี่ยนใจแล้ว แท้จริงแล้ว การจับกุมและการประหัตประหารตามอำเภอใจของผู้ที่ใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานยังคงดำเนินต่อไป การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังนั้นเกิดจากแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเมียนมาร์

รัฐบาลทหารแสวงหา 3 สิ่งจากประชาคมระหว่างประเทศ: 1) เงิน 2) อาวุธ และ 3) ความชอบธรรม การประกาศของอาเซียนว่ารัฐบาลทหารจะไม่ได้รับการรับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่จะเกิดขึ้นเป็นการปฏิเสธรัฐบาลเผด็จการครั้งที่สาม—ความชอบธรรม ความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในการหาที่นั่งสำหรับผู้แทนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติก็เช่นกัน

แรงกดดันอย่างต่อเนื่องในทั้งสามด้าน—เงิน, อาวุธ และความชอบธรรม—เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ประชาคมระหว่างประเทศสามารถสนับสนุนชาวเมียนมาร์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและกอบกู้ประเทศของตน การกระทำของรัฐบาลทหารในทุกวันนี้แสดงให้เห็นว่า แม้คำพูดของพวกเขาจะตรงกันข้าม แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันได้