‘อนุทิน’ สั่งทำความเข้าใจ หลังโพล 59% ค้านเปิดประเทศ คร.ชี้เปิดผลดีมากกว่า

‘อนุทิน’ สั่งกรมควบคุมโรค ทำความเข้าใจ หลังผลโพล 59% ค้านเปิดประเทศ อธิบดี คร. ชี้เปิดแล้วเกิดผลดีมากกว่า หากปิดล็อกดาวน์ไม่จบเสียที เชื่อจบปลายปี 64 แนะทุกจังหวัดทำแผนควบคุมโรคอย่างละเอียด เชื่อมีประสบการณ์ควบคุมกันเองได้ ไม่ต้องรอส่วนกลางสั่ง ลุยฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเชื่อไม่ต้องล็อกดาวน์ทั้งหมด

วันที่ 18 ต.ค.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลสำรวจประชาชนกว่า 59% เห็นว่ายังไม่ควรเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. ว่า นโยบายการเปิดประเทศเป็นความร่วมมือหลายภาคส่วน ซึ่ง สธ.สนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยเรื่องสุขภาพ สำหรับการผ่อนคลายมาตรการที่มากขึ้น เรามีความพร้อม เตรียมวัคซีนโควิดครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความปลอดภัย มาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ

เช่น ต้องมีผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดส มีใบรับรอง Fit-to-fly และเมื่อเดินทางถึงไทยต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำในคืนแรกจะต้องพักรอผลตรวจในพื้นที่ติดตามได้

ดังนั้น เรื่องระบบสาธารณสุขมีความพร้อมเตรียมรับสถานการณ์ได้ โดยกรมควบคุมโรคจะสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเข้าใจสถานการณ์

ถามว่าพบคลัสเตอร์ในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว จะต้องดำเนินการอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า คลัสเตอร์หมายถึงควบคุมได้แล้ว โดยเราใช้ระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการให้แยกกักที่บ้านหรือชุมชน ก็จะสามารถดูแลสถานการณ์ได้ วันนี้ผู้เสียชีวิตก็ลดลงต่อเนื่อง ตัวเลขต่ำร้อยรายหลายวันแล้ว แนวโน้มดีขึ้นทุกวัน ส่วนการเปิดท่องเที่ยวนั้นก็จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ ทุกคนต้องระวังตัวเองเพื่อลดความเสี่ยง เราช่วยกันในทุกฝ่าย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากดูแนวโน้มแต่ละประเทศทั่วโลก หลังจากที่ไทยประกาศเปิดประเทศ หลายประเทศก็ประกาศตาม เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น เนื่องจากระยะหลังแม้ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่อัตราป่วยและอัตราเสียชีวิตลดลง โดยเฉพาะ กทม. ที่เห็นชัดมากที่เราเร่งฉีดวัคซีน บางวันเสียชีวิตไม่ถึงสิบราย เราพยายามลดให้ได้มากที่สุด

ส่วนจังหวัดอื่นจะเร่งฉีดให้ครบ เชื่อว่าการเปิดประเทศจะเกิดผลดีมากกว่า เพราะหากปิดล็อกดาวน์ก็ไม่จบเสียที เชื่อว่าจะจบได้หากปลายปี 2564 เราฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้อย่างน้อย 80% ส่วนเข็ม 2 ก็จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ตรงนี้ก็จะให้เกิดความมั่นใจว่า หากติดเชื้อก็จะอาการไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต เปิดประเทศด้วยความมั่นใจ ขอให้ทุกคนเข้ามารับวัคซีน

“เปิดประเทศแล้วแปลว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่จะอยู่ในระดับที่ควบคุมสถานการณ์ได้ ช่วงหลังจะเป็นคลัสเตอร์เล็ก เพราะเราเน้นตรวจจับคลัสเตอร์เล็ก จะเหมือนตอนก่อน เม.ย.64 ที่เราพบคลัสเตอร์แล้วตามไทม์ไลน์ละเอียด ภาพรวมเจอคลัสเตอร์เล็กดี เพราะเราจะเข้าไปคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ให้จังหวัดทำแผนปฏิบัติการอย่างละเอียด จังหวัดที่ระบาดไม่มาก เน้นเฝ้าระวังให้ความรู้ประชาชนป้องกันตัวเองสูงสุด ฉีดวัคซีน ส่วนจังหวัดระบาดมาก เน้นควบคุมมาตรการสังคม ปิดกิจการต่างๆ เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่จังหวัดกลางๆ จะปรับตามสถานการณ์ หากมีโรงงานเยอะก็จะเน้น Bubble and seal

ตอนนี้เรามีเครื่องมือ มาตรการสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล สังคม และองค์กร เพียงแต่ละจังหวัดต้องดูสถานการณ์ของตัวเองให้ละเอียดขึ้น จากเดิมที่เราเน้นการสั่งการจากส่วนกลาง เชื่อว่าทุกจังหวัดมีประสบการณ์แล้ว สามารถควบคุมในจังหวัดของตัวเองได้ ก็จะเน้นในส่วนนั้น อย่างที่ปลัด สธ. ตั้ง 10 จังหวัด Watch list ก็จะต้องมาเสนอว่า ดำเนินการอย่างไร เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่

ส่วนจังหวัดพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดที่ต้องเตรียมความพร้อม ถือว่ามีความเข้มแข็ง ต้องการวัคซีน 7 แสนโดสก็ส่งลงพื้นที่ไปแล้ว ต้องรีบฉีดในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดำเนินการตามนโยบายนายกฯ วันที่ 1 พ.ย. ได้ ส่วนอัตราป่วยและเสียชีวิตใน 17 จังหวัดก็ไม่สูง เพราะประชาชนตื่นตัวในการเปิดประเทศ ความร่วมมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่เรายังห่วงอยู่ เช่น การรวมตัวทำกิจกรรมเสี่ยง ดื่มแอลกอฮอล์ หากพบร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ ก็ให้แจ้งเจ้าหน้าตำรวจเพื่อจับกุม เพราะผิดทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหากเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดจะมีโทษหนักด้วย

เมื่อถามว่าหากนักท่องเที่ยวเข้ามาวันที่ 1 พ.ย. จะต้องเป็นการท่องเที่ยวปลอดแอลกอฮอล์ นพ.โอภาส กล่าวว่า จะต้องมีมาตรการดูแลสถานที่เสี่ยงสูง เช่น สถานบันเทิง ทางกรมอนามัยก็จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าหากประชาชนฉีดวัคซีนกันจำนวนมากในปลายปีนี้แล้ว ก็จะไม่ป่วยหนัก เราก็จะไม่ต้องล็อกดาวน์ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือการลดกิจกรรมลง ลดการเดินทาง ดังนั้น หากพบปัญหา เราก็จะดูในเรื่องการเปิดกิจการแต่ให้เดินทางน้อยลง ก็น่าจะเหมาะสมมากกว่า

เมื่อถามถึงว่าหากเปิดประเทศ เปิดกิจการแล้ว เราต้องดูส่วนใดเป็นสำคัญ นพ.โอภาส กล่าวว่า เราต้องดูหลายอย่าง แต่สิ่งที่ห่วงสุดคือ ระบบสาธารณสุขว่าจะรองรับไหวหรือไม่ เช่น ไอซียูเต็ม หรือแพทย์รักษาไม่ไหว เป็นสิ่งที่เราห่วงที่สุด แต่ขณะนี้เรารู้วิธีแล้วว่าหากพบผู้ป่วยมาก เราจะทำไอซียูสนามอย่างไร รวมถึงอัตราเสียชีวิตลดลง และเราฉีดวัคซีนปูพรมครบ อัตราป่วยหนักก็ลดลงด้วย