‘ยุกติ-สมชาย’ ถามสำนึกวิจิตรศิลป์ มช. เลิกอ้าง ‘อย่าเอาการเมืองมายุ่งมหา’ลัย’ แต่ปิดกั้นเสรีภาพ

‘ยุกติ’ จี้วิจิตรศิลป์สำนึก ไม่ใช่ร.ร.ดัดสันดาน คาใจเคยมาตรฐานสูง วันนี้ปิดกั้นเสรีภาพ ‘สมชาย’ แนะเลิกพูด ‘อย่าเอาการเมืองมายุ่งมหา’ลัย’ ขู่ขุดรูปคล้องนกหวีดแฉซ้ำให้ตาแฉะ

สืบเนื่องวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (มีเดียอาร์ต) คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ จำนวน 40 คน ได้ชุมนุมร้องเรียนต่อศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี ต่อกรณีการพยายามตรวจสอบและเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะของนักศึกษา ของหอศิลปวัฒนธรรมและผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์

ก่อนที่ต่อมา วันที่ 16 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มพลเมืองเสมอกัน (We, The people) ได้เผยแพร่ภาพสดผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก พร้อมระบุข้อความว่า สืบเนื่องจากกรณีผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์เข้ามาก้าวก่ายการแสดงศิลปะเพื่อการสอบของนักศึกษา โดยขัดขวางไม่ให้นักศึกษาใช้หอศิลป์แสดงงานดังที่เคยทำกันทุกปี โดยอ้างว่างานศิลปะของนักศึกษามีเนื้อหาทางการเมือง ถึงขนาดตัดน้ำตัดไฟตึกมีเดียอาร์ตเมื่อคืน และวันนี้ล็อกประตูรั้วทั้งหมด ขังนักศึกษาไว้ข้างในราว 50 คน อาจารย์และนักศึกษาจึงช่วยกันตัดโซ่คล้องประตู เพื่อเปิดหอศิลป์ให้นักศึกษาเข้าไปจัดแสดง

ล่าสุด รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความว่า

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อนการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

เท่าที่ผมได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของภาควิชานี้มาต่อเนื่องหลายปี และยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับทั้งกิจกรรมการจัดแสดงผลงานนักศึกษาและผู้บรรยายพิเศษในกิจกรรมต่าง ๆ ของภาควิชา รวมทั้งยังส่งผลงานวิชาการมาร่วมตีพิมพ์วารสารของภาควิชาในฉบับปฐมฤกษ์ ก็เนื่องจากว่าผมเล็งเห็นถึงการให้เสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะและความแข็งแกร่งทางวิชาการของคณาจารย์และนักศึกษาภาควิชานี้

ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา การให้อิสระในการแสดงออกของทั้งอาจารย์และนักศึกษาทำให้ภาควิชานี้ รวมทั้งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการกล่าวขานกันกว้างขวางว่าเป็นสถาบันศึกษาศิลปะที่มีมาตรฐานสูง มีความก้าวหน้าทั้งทางวิชาการและการแสดงออกทางศิลปะในระดับแนวหน้า ไม่เพียงไม่น้อยกว่า แต่ยังอาจจะเหนือกว่าสถาบันศิลปะเก่าแก่บางสถาบันด้วยซ้ำไป

นั่นย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองจำนวนมากส่งเสริมให้นักศึกษามาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาฝีมือดี ความรู้ดี จำนวนมากตั้งใจมาศึกษาที่นี่ แม้จะด้วยค่าเล่าเรียนในอัตราค่อนข้างสูง เพราะเป็นโครงการพิเศษ

แต่ในระยะ 2-3 ปีให้หลังนี้ การบริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับมีแนวทางที่สวนทางกับทิศทางอันรุ่งเรืองในอดีต จนอาจกล่าวได้ว่าคณะวิจิตรศิลป์ยุคนี้เกิดความมัวหมองตกต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

นับตั้งแต่กรณีการปรับเปลี่ยนการบริหารงบประมาณของภาควิชาที่ตามระเบียบเดิมเป็นการบริหารที่ภาควิชามีเดียฯเองมีอิสระในการบริหาร ไปเป็นการบริหารภายใต้อำนาจของคณะ กรณีการไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลป์จัดงานแสดงประจำปีของนักศึกษาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา กรณีการยึดผลงานนักศึกษา กรณีการข่มขู่หรือถึงกับดำเนินคดีทางการเมืองกับนักศึกษา แล้วล่าสุดคือกรณีการตรวจสอบผลงานนักศึกษาก่อนจัดแสดง ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำเยี่ยงนี้มาก่อน

นั่นทำให้ผมมีคำถามต่างๆ แก่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ เลยเรื่อยไปจนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้

ข้อแรก ผมสงสัยว่าคณะวิจิตรศิลป์ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารชุดปัจจุบันมองว่าศิลปะคืออะไร ศิลปะคือผลงานสวยงามที่จรรโลงความสุขความบันเทิง หรือแม้แต่โน้มนำไปสู่พุทธิภาวะ แก่ผู้ชม ผู้เสพเท่านั้นหรือ หรือที่คับแคบยิ่งกว่านั้นคือ งานศิลปะจะต้องรับใช้หรือสอดคล้องกับค่านิยม ความเชื่อ ความดีงามตามบรรทัดฐานของรัฐบาล ตามบรรทัดฐานของสังคมเท่านั้นหรือ

ถ้าเช่นนั้น พวกท่านก็คงต้องเลิกสอนศิลปะตะวันตก เลิกสอนแม้กระทั่งศิลปะไทย แล้วหันไปสอนศิลปะมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เขียนงานบนฝาผนังถ้ำ หรือปัจจุบันนี้หากพวกท่านได้ดำเนินการเช่นนั้นไปแล้วหรือกำลังจะปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปดังนั้น ผมก็ขออภัยที่มิได้ล่วงรู้หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะฯ ในรายละเอียด

ข้อต่อมา ผมสงสัยว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ศิลปะตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการ รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ผลิตคนป้อนนโยบายรัฐ ป้อนกระแสสังคม เพียงเท่านั้นหรือ บทบาทของศิลปินหรือนักวิชาการ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ในทรรศนะของผู้บริหารคณะฯชุดนี้ คือการผลิตซ้ำวัฒนธรรม อุดมการณ์ ค่านิยม ระบบคุณค่าของสังคมหรือของผู้มีอำนาจบางกลุ่ม โดยไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อทัดทาน เลยอย่างนั้นหรือ

แต่หากผู้บริหารคณะฯยืนยันว่า แนวทางการบริหารของตนเองไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ก็โปรดอธิบายให้สาธารณชน อย่างน้อยให้ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนได้รับรู้ว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังกระทำอยู่ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการแสดงออกที่แตกต่างไปจากกรอบบรรทัดฐานของรัฐและสังคมไทยอย่างไร

ข้อสาม หากผู้บริหารคณะฯเห็นดังนั้น ทำไมคณะผู้บริหารจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมการแสดงออกของนักศึกษา ในแนวทางที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อบรรทัดฐานของรัฐไทยและสังคมไทยทั่วไป คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ส่งเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ

ทำไมไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยเพื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษา ตลอดจนสาธารณชนจะได้เข้าใจว่า ขณะนี้แนวทางการบริหารงานจะเป็นแบบนี้ หากนักศึกษาและผู้ปกครองไม่ประสงค์จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศิลปะตามแนวทางคับแคบเช่นนี้ จะได้เลือกหาสถาบันอื่น และหากไม่มีสถาบันอื่นใดให้เสรีภาพในการแสดงออกเลย พวกเขาก็อาจไม่เข้าเรียนสถาบันศิลปะใดในประเทศนี้เลยก็ได้

ข้อสุดท้าย ผมขอถามเลยไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า การบริหารการศึกษาศิลปะตามแนวทางของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ชุดปัจจุบันนี้ ได้รับการยอมรับ เห็นดีเห็นงามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่าเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยหรือไม่

หากเป็นไปตามแนวทางปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะยืนยันหรือไม่ว่าแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ แล้วถ้าเช่นนั้น จะอธิบายอย่างไรว่าการกระทำต่างๆ ของคณะวิจิตรศิลป์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีนี้ เป็นการส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกทางศิลปะและวิชาการ

หรือว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองเห็นด้วยว่าจะต้องปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะ ตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการในสาขาวิชาอื่นๆ นั่นหมายความว่า หากผู้บริหารประสงค์จะปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาก็สามารถกระทำได้ มหาวิทยาลัยจะไม่ทัดทานการปิดกั้นใช่หรือไม่

หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันกับคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ทัดทาน ไม่สอบสวนการกระทำอันเข้าข่ายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของคณะวิจิตรศิลป์แล้ว ผมก็สงสัยอย่างยิ่งว่า การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตามทรรศนะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงในแง่ของผลผลิต โดยไม่ได้ใส่ใจกับคุณค่าของเสรีภาพการแสดงออก ไม่ได้ใส่ใจกับการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะแหวกขนบ นอกกรอบ แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมเลยอย่างนั้นหรือ

ถึงที่สุดแล้ว หากงานศิลปะ งานวิชาการ และมหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบทบาทในการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าแก่สังคม ไม่สอนให้คิดนอกกรอบ ไม่สอนให้เกิดความคิดวิพากษ์วิจารณ์ ผมสงสัยว่าเราจะมีมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไรกัน หรือไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็ดำเนินกิจการต่อไปนั่นแหละ แต่ควรสำนึกในใจให้ดังๆ ว่า พวกคุณกำลังดำเนินกิจการโรงเรียนดัดสันดานหรือกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ มากกว่าจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

“หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม”

ขณะที่ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ระบุว่า รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า

นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามจัดการอภิปราย สัมมนา การเชิญวิทยากรในวิชาสอน ล่าสุดคือการจัดแสดงงานศิลปะที่ต้องมีการ “เซนเซอร์” ก่อน เหตุผลหลักที่ได้ยินกันบ่อยครั้งก็คือ มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดจากการเมือง

ถ้าความจำไม่สั้นจนเกินไป ก็ย่อมชัดเจนว่าคำอธิบายดังกล่าวเป็นการโป้ปดอย่างชัดเจน ก็เห็นกันอยู่ว่าก่อนการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งต่างโห่ร้องต้อนรับกับการเป่านกหวีดมากมายขนาดไหน ภาพถ่ายก็มีให้เห็นกันอย่างทนโท่ บรรดาผู้พูดก็ล้วนแต่มีภาพเป่านกหวีดคาปากกันแทบทั้งสิ้น จะต้องให้ขุดภาพมาทบทวนความจำกันอีกกี่รอบจึงจะหายอาการสมองเสื่อมกัน ไม่ต้องพูดถึงว่าภายหลังการรัฐประหาร ผู้บริหารระดับสูงในหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ดิบได้ดีในการเข้าร่วมกับรัฐประหารในนานาตำแหน่ง

ขณะที่ยินดีปรีดากับการเข้าร่วมกับฝ่ายอำนาจนิยม ตรงกันข้าม เมื่อมีการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้คนในมหาวิทยาลัย ก็กลับต้องเผชิญกับการคุกคาม การปิดกั้น การกดดัน ในแทบทุกรูปแบบ ทั้งด้วยวิธีการใต้ดินและวิธีการแบบบนดิน

จดหมายจาก Harvard University ถึงนักศึกษาแลกเปลี่ยนในประเทศไทย คืออีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่ามหาวิทยาลัยในประเทศนี้ไม่ได้ให้ค่ากับในเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างที่ชอบโอ้อวดกัน

ในครั้งหนึ่งที่ได้จัดการอภิปรายโดยมีนักวิชาการอาวุโสที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางร่วมเป็นวิทยากร ในฐานะผู้จัดผมก็ต้องพบกับความยุ่งยากเป็นอย่างมาก ทั้งที่สำหรับนักวิชาการเหล่านั้นมีผลงานประจักษ์ทั้งในระดับชาติ/นานาชาติ เมื่อยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการจัดงานก็ได้รับการกำชับกำชามาอย่างหนักแน่นว่า “ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”

แน่นอนว่าคำถามสำคัญก็คือว่า “การเมือง” นั้นมีความหมายกว้างขวางแค่ไหน ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการดำรงอยู่ของอำนาจใด ๆ กระทำมิได้ การอวยยศอวยเกียรติกับสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ควรกระทำได้เช่นกันมิใช่หรือ

“จะมีสิ่งใดน่าละอายใจสำหรับสถาบันทางวิชาการรวมถึงผู้คนในมหาวิทยาลัยมากไปกว่าการอนุญาตให้เอ่ยชมแต่ห้ามแสดงความเห็นต่างอีกหรือ”

เอาเข้าจริงแล้ว “มหาวิทยาลัย” ก็ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและยุ่งเกี่ยวแบบนัวเนียเสียด้วย ที่ไปนั่งอยู่ สนช. ภายหลังรัฐประหาร ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรี ไปอยู่ในองค์กรโน่นนี่นั่นโน่น ได้ดิบได้ดีจากการรับใช้ผู้มีอำนาจ กระทั่งงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา และอื่น ๆ ก็ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับการเมืองทั้งนั้นแหละ

หากต้องการเห็นความงอกงามทางปัญญา มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น การถกเถียง การแลกเปลี่ยน ยิ่งในประเด็นที่มีความอ่อนไหว มหาวิทยาลัยก็ยิ่งควรเป็น “แบบอย่าง” ของการเปิดให้มีการใช้เหตุผลและปัญญาในการนำเสนอหรือโต้แย้งกันอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรมีเสรีภาพดังกล่าวอย่างเต็มที่

สำหรับผมแล้ว หากจะมีใครจัดงานแสดงศิลปะเพื่ออวยอุดมการณ์แบบจารีตในมหาวิทยาลัยก็ควรเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพียงแต่เขาก็ต้องพร้อมจะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากคนเห็นต่างเช่นกัน

เลิกให้เหตุผลเรื่องอย่าเอาการเมืองมายุ่งกับมหาวิทยาลัยกันเสียทีนะครับ ถ้าใครยังพูดแบบนี้อีกก็จะหารูปตอนคล้องนกหวีดมาให้ดูกันให้ตาแฉะอีกคราว