‘วีรนันท์’ นำทีม ‘ก้าวไกล’ พบคนจนเมืองขอนแก่น เผยโครงการรถไฟฟ้า ไล่ที่แต่ไร้เยียวยา

ฟังคนขอนแก่น ‘วีรนันท์’ ว่าที่ผู้สมัครสส.เขต1​ขอนแก่นนำทีม ‘ก้าวไกล’ ตั้งโต๊ะถกปัญหา ‘คนจนเมืองขอนแก่น’ เผยโครงการ ‘รถไฟฟ้า’ เส้นอีสานไล่ที่ไร้เยียวยา กระทบกว่า 10,000 ครอบครัว ‘วิโรจน์’ จ่อตั้งกระทู้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ ด้าน ‘อภิชาติ’ รับนำเข้า กมธ.ที่ดิน เตรียมเชิญหน่วยงานชี้เเจง

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ณ ชุมชนมิตรภาพริมทางรถไฟ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล , อภิชาติ ศิริสุนทร และ สุรวาท ทองบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟต่อกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยมี วีรนันท์ ฮวดศรี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดขอนแก่น พรรคก้าวไกล ตัวเเทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมกันจัดวงเสวนาโต๊ะกลมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อกรณีดังกล่าว
.
วิโรจน์ กล่าวในวงเสวนาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแม้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีสัญญาเช่า แต่รัฐจะทำเป็นไม่รู้เรื่องเเล้วใช้กฎหมายมาปิดปากเพื่อจัดการประชาชนไม่ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเอาเรื่องที่รัฐไม่พูดถึงมาอยู่บนโต๊ะเพื่อเปิดให้มีการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน
.
“เบื้องต้นพรรคก้าวไกลมอบหมายให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น สรุปเรื่องราวเข้ามา เพื่อเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงในการตั้งกระทู้ถามต่อไปยัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ตอบและชี้เเจงถึงมาตรการของการเยียวยารวมถึงความชัดเจนของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้ ทราบว่าประชาชนจำนวนมากไม่มีสัญญาเช่า ไม่มีโฉนดที่ดิน แต่ในการพัฒนาเมืองประชาชนก็ไม่ได้ต่อต้าน จึงอยากให้ทางรัฐเข้าใจหัวอกของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ผมอยากเห็นเมืองที่คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถอยู่ร่วมในเมืองได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เมืองที่พัฒนาแต่ความศิวิไลซ์ อยากเห็นเมืองที่มีการแบ่งปันพื้นที่ให้กับประชาชนรากหญ้าอย่างเป็นธรรมและเข้าใจวิถีชีวิตที่เขาเคยอยู่ ไม่ใช่เป็น Smart City แต่ผู้อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อน รัฐมองแผ่นดิน แต่ไม่มองประชาชนที่อยู่อาศัยไม่ได้” วิโรจน์ กล่าว
.
ขณะที่ อภิชาติ ระบุว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้เเจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่อประชาชนได้รับผลกระทบเพื่อหาเเนวทางออกร่วมกันต่อไป
.
ทั้งนี้ บุญส่ง หมอยา เครือข่ายสลัมสี่ภาค ( ภาคอีสาน ) กล่าวว่า ไม่เฉพาะในจังหวัดขอนแก่นแแต่มีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง เครือข่ายจึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้น 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินรถไฟและคณะทำงานแก้ไขปัญหาด้านกระทรวงคมนาคม แนวทางการเจรจาคือ ทางเครือข่ายสลัมสี่ภาคจะขอให้มีการสำรวจทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ขอนแก่นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เบื้องต้นจะขอให้การแบ่งปันพื้นที่เเละแลกเปลี่ยนพื้นที่ในส่วนผู้ที่มีสัญญาเช่ากับการรถไฟ แต่ปัญหาของพี่น้องคนจนเมืองขอนแก่นคือ แม้แต่ในกลุ่มที่มีสัญญาเช่าก็ต้องย้ายเพื่อหลีกให้โครงการของรัฐ เหมือนอยากจะพัฒนาเมือง เเต่ไม่สนคนที่อยู่อาศัย และไม่มีมาตรการจากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะให้พวกเขาย้ายไปอยู่ที่ไหนหรือจะชดเชยอย่างไร
.
“ชุมชนริมทางรถไฟเขตเทศบาลขอนแก่น 6 ชุมชน มีสัญญาเช่า แต่หากนับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงในภาคอีสานมีจำนวนกว่า 10,000 ครัวเรือน ไม่ว่า นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราได้รับผลกระทบเเละไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ” ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาคระบุ