‘ทวี’ เผยการเรียกร้องรธน. เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

‘ทวี’ เผยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ชี้ไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นระบบเผด็จการทุนนิยม มีชนชั้นอยู่

วันที่ 15 ต.ค.64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า “การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตยได้เชิญร่วมเสวนาในหัวข้อ “48 ปี 14 ตุลาคม การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมประชาธิปไตย”

ประเทศไทยเราได้รัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับที่มีมากครั้ง แต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะพลเมืองยังไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่เป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ซึ่งมีหลักการสำคัญก็คือ มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในสังคม เขาต้องมีสิทธิ์อยู่รอดเป็นชีวิต ต้องมีปัจจัยสี่ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค)

ต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความยุติธรรมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันนี้คือหลักการประชาธิปไตย หัวข้อก็คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมเป็นประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาการเรียกร้องเราได้แค่รัฐธรรมนูญ แต่สังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยยังเป็นระบบเผด็จการทุนนิยมและมีชนชั้นอยู่

ประเทศที่มีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมีทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและประเทศที่ปกครองในระบอบอื่น ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ยาวนานที่สุดในโลกก็คือ สหรัฐอเมริกา 232 ปี ประเทศเนเธอร์แลนด์ 200 ปี ประเทศ เยอรมัน 72 ปี อิตาลี 70 ปี

ถ้าเรามาดูในเอเชียเราญี่ปุ่น 70 ปี, อินเดียที่มีรัฐธรรมนูญยาวมากที่สุดในโลก มีจำนวนคำถึง 146,385 คำ ที่ใช้มา 72 ปี หรือรัฐธรรมนูญจีนมีการแก้ไข 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ 39 ปี (1982) ศึกษาได้จาก หนังสือฉบับของสถาบันพระปกเกล้ารอบโลกรัฐธรรมนูญ

วันนี้หัวข้อเราพูดถึง 14 ตุลาคม 2516 ที่มีการชุมนุมที่ใหญ่แล้วก็มีคนจำนวนมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มี นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมกว่า 5 แสนคน ทำให้ ยุคเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอย่างยาวนานตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2490 ได้สิ้นสุดลง และทำให้ประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง เป็นประชาธิปไตยที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บ 875 คน (เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

สถานที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาแห่งนี้ เป็นถนนราชดำเนิน ที่การเดินขบวนยาวไปถึงหน้าสนามมวย สมัยนั้นมีโรงเรียนนายร้อย จปร. เยาวชนที่ออกมาเพื่อจะขับไล่เผด็จการ เพื่อจะมาเรียกร้องเพื่อมีความกินดีอยู่ดี แต่ต้องมาเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก มีผลกระทบต่อจิตใจ จิตวิญญาณของประชาชนในวงกว้าง

มรดกที่มีคุณค่าของเสรีชนนักต่อสู้ของวีรชนมีหลายประการที่ขอยกมาในการเสวนาคือ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่ผมถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ที่นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอมลาออกลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามาก ได้แก่ “ห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือสถาบันพระมหากษัตริย์” การยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญเป็นความผิดไม่ให้นิรโทษกรรม ที่เป็นวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล

รัฐธรรมนูญปี 2517 ที่ถือเป็นการวางหลักยกเลิกระบบชนชั้น อาทิ เกษตรกร มาตรา 81 “รัฐพึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ และมีสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินและวิธีการอื่น”

รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะบัญญัติเป็นการสงเคราะห์การสงเคราะห์ที่อาจเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ใช้ถ้อยคำว่า “ผู้ยากไร้ เป็นบุคคลยากไร้ ไม่มีรายได้ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” กรณีเกษตรกรตาม มาตรา 73 “…รัฐ..พึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด” ซึ่งกระบวนการคัดกรองผู้ยากไร้ โดยรัฐที่อาศัยภาษีของประชาชนเป็นเงินเดือนอาจลดทอนคุณค่าที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ ไม่ยึดหลักความเสมอภาคที่ทุกคนมีสิทธิเสมอกัน

ผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินและเอกสารสิทธิ์ ที่ดินของประเทศไทยมีประมาณ 320 ล้านไร่ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินอยู่ในมือรัฐ และที่ดินเป็นของเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินประมาณ 128 ล้านไร่ ออกเป็นโฉนดทั่วประเทศประมาณ 33.3 ล้านแปลง ปรากฏโฉนดที่ดินที่มีชื่ออยู่มีแค่ 12.9 ล้านคนเศษ

ในจำนวนนี้ มีที่ดิน 1-5 ไร่ 11.9 ล้านคนเศษ, มีที่ดินจำนวน 5-10 ไร่ประมาณ 5.3 แสนคนเศษ, มีที่ดิน 10-50 ไร่ ประมาณ 4.5 แสนคนเศษ และมีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ประมาณ 1.9 หมื่นรายเศษ แสดงว่าโฉนดที่มีความกระจุกตัวในคนกลุ่มเล็กที่ได้กำหนดว่าที่ดินเป็นสินทรัพย์จึงมีการกักตุนเก็งกำไร ทั้งที่ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกร

มุมมองในสังคมว่า “รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเรายังไม่ได้ร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดจึงไม่ได้เกิด” แต่ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ดีเคยมีมาแล้วแต่ว่าเราไม่รักษา ที่ปล่อยให้มีการฉีกทิ้งโดยนักเผด็จการรัฐประหาร สิ่งสำคัญก็คือว่า เราปล่อยให้คณะยึดอำนาจการปกครองที่เป็นผู้กระทำผิดฐานกบฏลอยนวล และให้มีการนิรโทษกรรมนักรัฐประหารที่คนกลุ่มนี้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำประเทศแล้วจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจ สร้างระบบอุปถัมภ์และทำลายบุคคลฝ่ายตรงข้าม สร้างความขัดแย้งในสังคมไม่จบสิ้น

หากพิจารณารากเหง้าการทำลายประชาธิปไตยคือการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 ดูตัวบุคคล ได้แก่ นายทหารนอกราชการ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม พล.ท.ผิน ชุณหวัณ พ.อ.กานสงคราม พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ และนายทหารประจำการ เช่น พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ไสว ไสวแนนยากร พ.ท.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร พ.ท.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ร.อ.ประจวบ สุนทรางกูร และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้น

ต่อมาตัวบุคคลที่ทำการรัฐประหารครั้งนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันมากกว่า 20 ปี มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เขารัฐประหาร เขาเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันราว 11 ปีเศษ มีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเกือบ 5 ปี มีจอมพลถนอม เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีการสังหารชุมนุมในวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 รวมเกือบ 8 ปี

รากเหง้าสำคัญคือการรัฐประหารปี 2490 จากนั้นประเทศไทยอยู่ในวังวนการรัฐประหารจนมาถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ฝ่ายประชาชนทั่วไปถูกปลุกระดมให้เห็นความไม่ดีเกิดจากนักการเมือง และสร้างภาพให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแต่เป็นเรื่องสูงสุดของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยและเป็นเรื่องไร้สาระของกองทัพ และคนที่มีอาวุธ เพราะเขาอยากจะฉีกเมื่อไหร่ก็ได้ ไปหลอกลวงว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง

ถ้าเราไปดูจริงๆเกือบ 70 ปี สถาบันการเมืองที่ใหญ่ที่สุด คือ กองทัพ คือระบบข้าราชการ ดังนั้นสิ่งที่เราจะให้ลูกหลานขับเคลื่อนไปมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่สิ่งสำคัญการไม่ปล่อยให้ผู้ทำการัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคนผิดลอยนวล และต้องไม่มีนิรโทษกรรมนักรัฐประหาร มีความสำคัญไม่แพ้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีรัฐธรรมมนูญซ้อนอยู่ 3 ฉบับอยู่ในฉบับเดียวกัน คือ ฉบับแรกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับทั่ว ฉบับที่สอง เป็นรัฐธรรมนูญที่มี “รัฐอิสระ” ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐอิสระมีหน้าที่ขจัดฝ่ายประชาธิปไตยเสรีชน เพราะต้องการจะสืบทอดอำนาจให้กับพลเอกประยุทธ์กับคณะจะเห็นคำวินิจฉัย ปกติรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นลายลักษณ์อักษร การจะใช้กฎหมายทุกคนในประเทศไทยฟังภาษาไทยได้ เพราะว่าภาษารัฐธรรมนูญชัดเจนไม่คลุมเครือ

แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะทำตัวเป็นรัฐธรรมนูญทุกครั้ง เพื่อจะช่วยเหลือให้อยู่ได้ ผู้มีอำนาจเขาต้องการอยู่ต่อ และฉบับที่สาม คือ “รัฐประหารเงียบ” คือ บทเฉพาะกาล ที่ ส.ว. 250 คนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจเหนือกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ยังกำหนดให้บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีผลใช้บังคับในอนาคตต่อไป เรียกได้ว่าเป็นการ “รัฐประหารเงียบ” เพื่อสืบทอดอำนาจ

การเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเป็นเรื่องยากถ้าไม่จับกุมดำเนินคดี กับผู้ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ รวมทั้งผู้สั่งการ ผู้บงการ ใช้ จ้าง วาน ให้มีการฆ่าประชาชน วันนี้ขอให้รำลึกถึงวีรชนผู้กล้าเอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าแลกจนได้มีรัฐธรรมนูญปี 2517 แต่สามารถใช้ได้เพียง 2 ปีเศษ

สิ่งที่เป็นมะเร็งร้ายยังอยู่ คือ การลอยนวลผู้กระทำผิด คุณค่าของวีรชนผู้กล้า 14 ตุลาคม 2516 ที่ขับไล่เผด็จการจนสำเร็จ การเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่คิดว่า ยังไม่พอต้องนำตัวนักปฏิวัติรัฐประหารดำเนินคดี พร้อมกับการเรียกร้องให้ลาออกหรือไล่ผู้นำเผด็จการเหมือนวีรชน 14 ตุลาคม จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้

(หมายเหตุ – อภิปรายสาธารณะ วาระครบรอบ 48 ปี 14 ตุลา: การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ จัดโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตย) #ทวีสอดส่อง #14ตุลา #48ปี14ตุลา