เปิดงานวิจัยฉีด ‘ไฟเซอร์’ ครบโดส แม้ภูมิลดหลังฉีดแต่ป้องกัน ป่วยหนัก-ตายดี

หมอธีระ เปิดงานวิจัยพบ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2 เข็มแม้ภูมิลดหลังฉีดแต่ป้องกัน ป่วยหนัก-ตาย แนะต้องป้องกันตัวเป็นกิจวัตร

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมไปถึงผลการวิจัยระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นในเดือนแรกก่อนจะตกลงเหลื 20 เปอร์เซ็นต์ในเดือนที่ 5-7 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลยังสูงตลอด 6 เดือนหลังฉีด

โดย รศ.นพ.ธีระ ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า

อัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer/Biontech ล่าสุดมีงานวิจัยเพิ่มเติมอีก 3 ชิ้น จากอิสราเอล กาตาร์ และอเมริกา ที่ทำให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน

งานศึกษาที่อิสราเอลนั้นทำในบุคลากรทางการแพทย์ 3,808 คน พบว่าหลังฉีดวัคซีนไปครบสองเข็ม ระดับแอนติบอดี้ IgG จะสูงสุดในช่วง 4-30 วันหลังฉีดเข็มสอง และค่อยๆ ลดลงในช่วง 6 เดือนถัดมา ทั้งนี้ระดับ Neutralizing antibody ก็ลดลงในลักษณะเดียวกัน โดยการลดลงของภูมิคุ้มกันนั้นจะลดมากในกลุ่มคนที่สูงอายุ, เพศชาย, มีโรคประจำตัวตั้งแต่ 2 โรคขึ้นไป, หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง/โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง

ส่วนการวิจัยที่กาตาร์นั้น ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 947,035 คน พบว่าระดับประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อนั้นสูง 77% ภายในเดือนแรกหลังฉีดวัคซีนครบ แต่จะลดลงเหลือ 20% หากติดตามไปถึงเดือนที่ 5-7 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิตนั้น ยังคงสูงถึง 96% และไม่ได้ลดลงตลอดช่วง 6 เดือนที่ติดตามผล

ในขณะที่การวิจัยที่อเมริกา ศึกษาในกลุ่มประชากร 3,436,957 คน ติดตาม 6 เดือน พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 88% ในช่วงเดือนแรก และลดลงเหลือ 47% ในเดือนที่ 5 แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงสูง 87% ในเดือนแรก และ 88% ในเดือนที่ 5 โดยประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นได้ผลทั้งในสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์อื่น

ความรู้จากงานวิจัยข้างต้นทั้งหมด ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากขึ้นว่า การจะป้องกันการติดเชื้อนั้นคงต้องอาศัยระดับแอนติบอดี้ที่สูงมากเพียงพอ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทั่วโลกกำลังวางแผนที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม การฉีดเข็มกระตุ้นที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเพื่อหวังจะกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นนั้น นอกจากหวังผลที่จะป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังหวังผลที่จะลดผลกระทบจากการติดเชื้อที่แม้จะอาการน้อย แต่อาจเกิดภาวะคงค้างที่เรารู้จักในชื่อว่า Long COVID อีกด้วย

ในขณะที่การป้องกันการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิตนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนยังคงเดิมอยู่นานตลอดการติดตามผล น่าจะมาจากกลไกตอบสนองของร่างกาย ที่มีความจำฝังอยู่ในระบบภูมิคุ้มกัน ผ่าน memory B cells ที่จะสร้างแอนติบอดี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อ และผ่านระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ในการต่อสู้กับเชื้อโรคภายหลังการติดเชื้อได้ จึงทำให้ลดป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้ แม้จะได้รับวัคซีนมานานแล้วก็ตาม

สำหรับประชาชนไทยเรา ขอให้ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนะครับ เพราะยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการผ่อนคลายการใช้ชีวิต และกำลังจะเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศ
ด้วยรักและห่วงใย