ก.แรงงาน แจงสิทธิของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

      กระทรวงแรงงาน ย้ำข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

      นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของลูกจ้างรับเหมาค่าแรง เป็นเรื่องที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างกลุ่มนี้ และเน้นย้ำให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรม กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงสิทธิของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยสร้างความเข้าใจถึงข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11/1 ที่ผู้ประกอบกิจการต้องรับผิดชอบและดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ หากนายจ้างฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

      นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงข้อกฎหมายนี้ว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของ   ผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว มาตรา 144/1 ผู้ประกอบกิจการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทั้งนี้ ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากผู้ประกอบกิจการมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3