ส.อ.ท.เผยกลุ่มแบงก์-พลังงาน-ยานยนต์ รุกปรับตัวรับเทคโนโลยีดิจิทัล

ส.อ.ท.เผยกลุ่มแบงก์-พลังงาน-ยานยนต์ รุกปรับตัวรับเทคโนโลยีดิจิทัล จับตาเกษตรอนาคตเลี้ยงปลาในกระชังกลางทะเล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อธุรกิจไทย ว่า เรื่องนี้ในแวดวงธุรกิจมีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวรับมือ ก่อนเกิดโควิด-19 หลายธนาคารเริ่มปรับตัวลดสาขา ลดพนักงาน และมุ่งสู่การทำธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ล่าสุดกรณีของ ธนาคารไทยพาณิชย์ คือตัวอย่างสำคัญของธนาคารที่ปรับตัวมุ่งธุรกิจฟินเทค มีการทรานฟอร์มตัวเองทั้งที่ปัจจุบันมีกำไรสูงแต่ขยับเร็ว ปรับโมเดลธุรกิจ มีการจับมือกับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจต่างๆ เพื่อแสวงหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ เชื่อว่าหลังจากนี้ธนาคารอื่นจะปรับตัวเช่นกัน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า อีกกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คือ กลุ่มยานยนต์ที่มุ่งยานยนต์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประเด็นนี้ประเทศยักษ์ใหญ่ ทั้งจีน และสหรัฐ ต่างประกาศตัวมุ่งอีวีทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศไทยหากต้องการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของภูมิภาคต่อไปก็ต้องปรับตัว ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ มีคณะทำงานในการขับเคลื่อน คือ บอร์ดอีวี แต่ก็ต้องดูว่ามีนโยบายที่ชัดเจนและแนวทางดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร

นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้อีกอุตสาหกรรมที่เห็นการปรับตัวชัดเจนคือ พลังงาน อาทิ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ปรับจากธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง ปิโตรเลียม สู้อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งอีวี ยาและเวชภัณฑ์ ล่าสุดก็เข้าสนับสนุนสตาร์ตอัพอย่างเต็มรูปแบบ อีกบริษัทที่น่าสนใจคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากพลังงานยังหันลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ท่าเรือ และล่าสุดคือธุรกิจโทรคมนาคม ผ่านการถือหุ้นใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

“นอกจากการปรับตัวของธุรกิจใหญ่ที่เป็นข่าวดัง ในส่วนของภาคเกษตร ก็มีการปรับตัวเช่นกัน ปัจจุบันนอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลผลิต อาทิ โดรนในภาคเกษตร แต่กรรมวิธีการผลิตก็มีความน่าสนใจ อาทิ โมเดลการเลี้ยงปลากระชังในทะเล อดีตประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาได้จ้างจีนดำเนินการเพราะต้นทุนถูกกว่า และทำออกมาได้ดี ทำให้จีนเริ่มพัฒนาและมีการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลเอง ทำให้เชื่อว่าอนาคตจากเดิมจีนที่นำเข้าอาหารทะเลมหาศาลอาจผลิตบริโภคและเป็นส่งออก ซึ่งไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลกต้องปรับตัว ชาวประมงไทยจะปรับตัวอย่างไร ทราบว่าโมเดลเลี้ยงปลาในกระชังทางทะเลในไทยเริ่มมีเอกชนขออนุญาตแล้วแต่ยังอยู่ในขั้นตอน เพราะติดเรื่องข้อกฎหมายและกรรมวิธีที่ค่อนข้างยากเพื่อความปลอดภัย” นายเกรียงไกรกล่าว