ก้าวไกล เยือนศูนย์แยกกักตัวในจันทบุรี หลังโควิดระบาดในพื้นที่หนัก พบขาดแคลนงบฯ

พิธา นำทีมส.ส.ก้าวไกล เยี่ยมศูนย์แยกกักตัว หลังพื้นที่ระบาดโควิดในจันทบุรีเข้าขั้นวิกฤต พบประสบปัญหางบประมาณขาดแคลน เสนอ 3 ขั้นตอนรับมือ

วันที่ 10 ตุลาคม 2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค , อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล , สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ , วรรณวิภา ไม้สน  , ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ ณ ศูนย์แยกกักตัวในชุมชนอำเภอมะขาม

พิธา กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมในประเทศไทยที่รัฐบาลรายงานให้สังคมทราบมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแต่สถานการณ์ด้านโควิดในจังหวัดจันทบุรีกำลังเข้าขั้นวิกฤติ ทุบสถิติเจอนิวไฮผู้ติดเชื้อสูง  450 รายต่อวัน ตนรู้สึกเป็นห่วงชาวจันทบุรีและอยากรับฟังปัญหาว่าจะสามาระผลักดันเพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรท้องถิ่นได้​อย่างไรบ้าง

ด้านตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์แยกกักตัวในชุมชนอำเภอมะขาม (Community Isolation) กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งให้แต่ละพื้นที่ตั้งศูนย์แยกกักตัว แต่กลับไม่ส่งงบประมาณมาให้ด้วย สร้างความลำบากให้กับหลายพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยศูนย์ดูแลผู้ป่วยแห่งนี้ใช้เงินก่อตั้งจากเงินสะสมของท้องถิ่นที่ปรกติจะต้องนำไปใช้ในการดูแลประชาชนในด้านต่างๆ มาใช้เฉพาะหน้าไปก่อน เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดการปัญหาโควิด

โดยทางเทศบาลฯ ที่มีเงินสะสมอยู่เพียง 3.8 ล้านบาท แต่ต้องนำเงินสะสมจำนวน 1.7 ล้านบาท หรือกว่าครึ่งหนึ่งของเงินที่เทศบาลมีทั้งหมดมาใช้เพื่อก่อตั้งศูนย์แยกกักตัวเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าจัดการอีกกว่าเดือนละ 70,000 บาท ซึ่งหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปท้องถิ่นเองก็จะไม่เหลืองบประมาณเพื่อดูแลประชาชนในด้านอื่นๆ อีกเลย จึงขอยื่นหนังสือต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลเพื่อนำไปยื่นให้ฝ่ายรัฐบาลปรับปรุงการบริหารงบประมาณต่อไป

ด้านพิธาระบุว่า​ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับจังหวัดจันทบุรีเท่านั้น แต่ท้องถิ่นทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาที่ไม่มีงบประมาณในการจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ​ตนรู้สึกเห็นใจบุคลากรท้องถิ่นทุกท่านไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทุกภาคส่วนที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งที่ไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนเท่าที่ควร ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจากการงดเก็บภาษีที่ดินในท้องถิ่นทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ​ และงบกลางที่ควรจะนำมากระจายให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดการปัญหาก็กลับถูกโยกไปให้นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับปัญหางบประมาณที่ลดน้อยลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากขึ้น บุคลากรหน้างานมีภาระงานเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ได้รับการแยแสจากรัฐบาล

ทั้งนี้หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้เสนอให้มีการจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งตนมีความเห็นว่าในลำดับแรกเราควรต้องทำการ Bubble and Seal ก่อน เพราะคลัสเตอร์ 450 คนล่าสุดเกิดขึ้นในพื้นที่  4 อำเภอ ได้แก่ อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว อ.เมือง และอ.ท่าใหม่ และก็มาจากแค่ 4 คลัสเตอร์ คือ ตลาดนัด เเรงงานล้งลำไย ก่อสร้าง และงานบุญ ประเพณีและงานศพ ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นควรเริ่มจากมาตรการเบาไปหนัก อาจจะต้องมีการจำกัดมาตรการในกลุ่ม 4 คลัสเตอร์นี้ก่อน มีการใช้ การตรวจ ATK ปูพรม 1 ครั้ง ถึง 2 ครั้ง ต่ออาทิตย์

หากมาตรการนี้ใช้ไม่ได้อาจะต้องคิดถึงมาตรการล็อกดาวแต่ไม่ใช่การล็อกดาวทั้ฃหมดแต่ต้องล็อกเลือกดาวเฉพาะอำเภอที่มีการแพร่ระบาด ไม่ให้แพร่ระบาดข้ามเขตข้ามอำเภอกัน อย่างเช่นพื้นที่ที่มีเเรงงานล้งลำไย หรือเเรงงานข้ามชาติที่ต้องข้ามมาเก็บลำไย ซึ่งหากขั้นที่ 2 เอาไม่อยู่จริงๆประการสุดท้ายก็ต้องดำเนินการมาตรการขั้นเด็ดขาดคือล็อกดาวน์ ทั้งจังหวัด​ในระหว่างนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการบริหารเอางบกลางมาใช้ในการเยียวยา ในช่วงที่พวกเขาต้องรักษาตัวหรืออยู่ในช่วง buble and seal  พิธากล่าวเพิ่มเติมว่าโดยข้อเสนอที่ตนเสนอ 3 ข้อนี้ เปรียบเหมือนบันได 3 ขั้นไล่จากเบาไปหนัก มีการเตรียมพร้อมก่อนที่มันจะระเบิด เเละมีการเยียวยาเมื่อจำเป็นต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อทำให้จันทบุรีกลับมาสู่สถานการณ์ปกติได้เร็วที่สุด