“จีน” หล่นอันดับผู้นำฟื้นตัวโควิด ภูมิภาค “อาเซียน” รั้งท้ายตาราง

สถานการณ์โควิด-19 ใน “จีน” ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะคลี่คลายได้รวดเร็วที่สุดในโลกจากการใช้มาตรการคุมเข้มต่อเนื่อง ส่วนภูมิภาคใกล้เคียงอย่าง “อาเซียน” ก็เรียกได้ว่าไม่บาดเจ็บมากนักหากเทียบกับภูมิภาคอื่น

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดของสายพันธุ์เดลต้ากลับเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ที่ฉุดเศรษฐกิจจีนให้สะดุดกับการควบคุมโรคระบาดอีกครั้ง และอาเซียนกลายเป็นภูมิภาครั้งท้ายที่ฟื้นตัวช้าที่สุดในโลก

นิกเคอิ เอเชียรายงาน “ดัชนีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19” ฉบับล่าสุด เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า จีนมีระดับการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่อันดับที่ 9 ของโลก ลดลงจากอันดับที่ 1 ในรายงานฉบับก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ “นิกเคอิ เอเชีย รีเสิร์ช” ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ใน 121 ประเทศทั่วโลก เป็นการวิเคราะห์ทั้งด้านความสามารถในการจัดการการติดเชื้อ การกระจายวัคซีน “และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค”

โดยจีนครองอันดับที่ 1 ของโลกในการฟื้นตัวจากโควิด-19 มาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีเป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. 2021 เนื่องจากมีจำนวนผู้ได้วัคซีนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีอัตราการติดเชื้อต่ำ โดยข้อมูลของทางการจีนระบุว่า ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนภายในประเทศแล้วกว่า 2,200 ล้านโดส ครอบคลุมราว 70% ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงใช้มาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเดินทางข้ามพรมแดน ซึ่งเห็นได้จากปริมาณเที่ยวบินสู่จีนแผ่นดินใหญ่ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาลดลงกว่า 90% เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลของ “ซิเรียม” บริษัทข้อมูลและวิเคราะห์ด้านการบินระดับโลก

หลังการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทางการจีนยังกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างหนักให้กับธุรกิจจีนที่กำลังกลับมาฟื้นตัว และยังทำให้หลายประเทศสามารถฟื้นตัวแซงหน้าจีนไป จากการเร่งตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีน รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค

“อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจในอังกฤษคาดว่าการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดของจีนอาจต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 ปี 2022 หรือจนกว่าประชากรจีนจะได้รับวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 3 อย่างทั่วถึง

ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฟื้นตัวต่ำที่สุดในโลก โดยเฉพาะ “ลาว” และ “ฟิลิปปินส์” ที่ครอง 2 อันดับสุดท้ายของประเทศที่ทำการสำรวจทั้งหมด 121 ประเทศ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่สถานการณ์ยังรุนแรง เนื่องจากมีผู้ได้รับวัคซีนไม่ถึง 30% ของประชากรทั้งหมด และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยสูงกว่า 10,000 ราย/วัน ในรอบเดือนที่ผ่านมา

สำหรับประเทศ “ไทย” และ “เวียดนาม” แม้จะมีสัญญาณดีขึ้นเนื่องจากปริมาณวัคซีนที่มากขึ้น แต่ยังคงอยู่ท้ายตารางในอันดับที่ 109 และ 118 ตามลำดับ เนื่องจากยังคงใช้มาตรการคุมเข้มโดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่